‘กลุ่มคอมโควิด-19’ รับรางวัล ‘โกมลคีมทอง’ ชูจุดแข็ง ภาค ปชช. ตัวช่วย กู้วิกฤตสาธารณสุข

‘มูลนิธิโกมลคีมทอง’ ยกย่อง ‘กลุ่มคอมโควิด-19’ เป็นบุคคลเกียรติยศ ในฐานะผู้ผลักดันระบบ “Home Isolation  และ Community Isolation” ส่งต่อโมเดลภาครัฐกู้วิกฤตผู้ป่วยรอเตียง ตัดวงจรเสียชีวิต

กลุ่มคอมโควิด-19

วันนี้ (27 ก.พ.65) มูลนิธิโกมลคีมทอง มอบรางวัลบุคคลเกียรติยศให้แก่ กลุ่มคอมโควิด-19 (Community-led COVID-19 Support Workforce) ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ครั้งที่ 48 ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมสานใจ 1 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกย่องความเสียสละผู้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ได้รับการดูแล เยียวยา และความเป็นธรรมของสังคม

การประกาศเกียรติยศ ระบุว่า กลุ่มคอมโควิด-19 (Community-led COVID-19 Support Workforce) สะท้อนความเข้มแข็งของพลังทางสังคมในการสร้างระบบบริการสุขภาพ โดยการรวมกลุ่มอาสาสมัครที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรนอกภาครัฐ (NGO) รวมทั้งชุมชนหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Community-led COVID-19 Support Workforce (Com COVID-19 หรือ คอมโควิด-19) ขึ้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย.64 บนฐานความเชื่อว่า “ระบบสุขภาพไม่ได้อยู่แค่ในมือแพทย์พยาบาลเท่านั้น แต่อยู่ในมือของประชาชนทุกคน” 

รสนา โตสิตระกูล กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโกมลคีมทอง กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 กลายเป็นปัญหาของประเทศไทย นับตั้งแต่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศคนแรกเมื่อวันที่ 31 ม.ค.63 การระบาดของโรคเป็นระยะ รวมทั้งการที่รัฐมีมาตรการต่าง ๆ ที่จะควบคุมโรค กระทั่งได้รับคำชื่นชมจากหลาย ๆ แห่งว่าสามารถควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี 

แต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 เกิดการระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ อัตราการติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่านโยบายกฎหมาย และแนวปฎิบัติของรัฐจะเน้นให้ทุกคนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด แต่ในทางปฎิบัติระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ คนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตที่บ้าน ทั้งจากการรอตรวจหาเชื้อหรือเข้ารับการรักษา ปลายเดือนมิถุนายน 2564 มาตรการควบคุมป้องกันต่าง ๆ ของรัฐที่เคยทำมาไม่ได้ผล มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 5,000 รายต่อวัน ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความจำเป็นของการมีระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation)

รสนา โตสิตระกูล กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโกมลคีมทอง

กลุ่มคอมโควิค-19 ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร ประสานการดูแลผู้ป่วยเข้าสู่ระบบโดยดำเนินการจัดส่งอาหารและยา รวมถึงระบบการให้คำปรึกษาติดตามอาการผ่านระบบดูแลทางไกล ทำให้ผู้ป่วยนับหมื่นคนได้รับการดูแลโดยประสานการทำงานกับองค์กรเครือข่าย มีการเตรียมความพร้อมของคนทำงานภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชน ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ในชุมชน การคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูง การจัดพื้นที่รองรับสำหรับคนที่ไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ รวมไปถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรค ทักษะการประเมินความเสี่ยงของโรค การดูแลสุขภาพจิต การจัดการการตีตรา และให้ความช่วยเหลือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากโรคโควิด-19 

“การทำงานของกลุ่มคอมโควิด-19 คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนต่าง ๆ มีศักยภาพในการดูแลปัญหาสุขภาพของตนเอง หากชุมชนมีองค์ความรู้และมีความมั่นใจที่สามารถส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลผู้ติดเชื้อหรืออยู่ร่วมกันได้ หากรัฐเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาสุขภาพได้อย่างเป็นระบบ โดยไม่ผูกขาดการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นฝ่ายเดียวย่อมทำให้ปัญหาสุขภาพในมิติต่างๆ ของประชาชนมีทางออก”

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ตัวแทนกลุ่มคอมโควิค-19

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เป็นตัวแทนกลุ่มคอมโควิค-19 กล่าวถึงรางวัลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทองโดยระบุว่า การลุกขึ้นมาผลักดันระบบบริการสุขภาพประชาชนนับหมื่นคนในช่วงเวลาไม่กี่เดือนได้ เป็นภาพสะท้อนความเข้มแข็งของ กลุ่มคอมโควิด-19 ในการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกันมาไม่น้อยกว่า 3 ทศวรรษ ด้วยแนวคิดเอาคนเป็นศูนย์กลาง

“มันไม่ยากเลย เราไม่ต้องเอื้อนเอ่ยว่าเราจะทำอะไรกัน ไม่ต้องเขียนข้อตกลง กระบวนการที่เราทำมองเห็นร่วมกันคือคนอยู่ตรงกลาง แล้วมั่นใจว่าจะทำให้คนที่อยู่ในชุมชนมีศักยภาพดูแลตัวเองได้ เพราะเราเคยทำมาแล้วกับโรคอื่นๆ โควิด-19 มันเลยไม่ใช่อะไรที่ยาก”

ตัวแทนกลุ่มคอมโควิค-19 บอกด้วยว่า  จากบทเรียนการทำงานมีความมั่นใจว่าประชาชนทั่วไป ถ้าได้รับองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน ไม่ซ่อนอะไรไว้ข้างหลัง ทุกคนมีความสามาถที่จะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปวิเคราะห์ พิจารณา แล้ววางแผนป้องกันโควิด-19 สำหรับตัวเองและคนในชุมชนได้ โดยเชื่อว่าการวางระบบแบบนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้กับวิกฤตอื่น ๆ ในระบบสาธารณสุข

“สุดท้ายเราหวังว่างานที่พวกเราทำจะถูกยอมรับในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค ว่าการลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ทำให้รัฐมองเห็นว่าต่อไปการลงทุนพัฒนาศักยภาพประชาชนเพื่อจะดูแลสุขภาพของตัวเอง เป็นระบบบริการสุขภาพในชุมชนที่นำโดยชุมชนเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงแม้รัฐจะไม่ตอบรับ เราก็คิดว่าสิ่งที่เราทำมาได้หว่านเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้เห็นความเข้มแข็งของประชาชนในชุมชนหลาย ๆ แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหลาย ๆ จังหวัด ให้พร้อมจะมีส่วนร่วมในการวางแผนเรื่องระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต”

นอกจากนี้ ภายในงานได้เปิดเวทีปาฐกถาเพื่อรำลึกถึง ครูโกมล คีมทอง นักขับเคลื่อนการศึกษาและการพัฒนาสังคมในหัวข้อ “เปลี่ยนห้องเรียน เปลี่ยนสังคม : เสียงจากครูรุ่นใหม่” โดย สัญญา มัครินทร์ ครูโรงเรียนสีชมพูศึกษา อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ที่มีความโดดเด่นเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคม โดยจัดการเรียนการสอนแตกต่างไปจากการสอนกระแสหลัก ไม่ผูกขาดอำนาจของครูว่าต้องเป็นผู้ถ่ายทอด แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีการพัฒนาทั้งความรู้ ความคิด ความสามารถในด้านต่าง ๆ ร่วมทั้งการพัฒนาหัวใจของเด็ก ด้วยเห็นว่าคนเป็นครูคือผู้ที่เตรียมอนาคตของสังคม ถ้าจะสร้างสังคมประชาธิปไตยก็ต้องสร้างจากในห้องเรียน เด็กจะได้นำประสบการณ์ที่ได้รับออกไปใช้ในโลกข้างนอก

ทั้งนี้ มูลนิธิโกมลคีมทอง เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับอุดมคติ การเสียสละ และการทำงานเพื่อสังคม โดยส่งเสริมบทบาทคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามีจิตใจเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลผู้อื่น และเรียนรู้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ในสังคม  อันจะทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมตามแบบอย่างที่ดีของ ครูโกมล คีมทอง ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2514 ขณะอุทิศตนเป็นครูอยู่ในถิ่นทุรกันดารที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา อ.บ้านส้อง จ.สุราษฎร์ธานี โดยจัดงานปาฐกถาและมอบรางวัลบุคคลเกียรติยศเป็นประจำทุกปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม