จะนะรักษ์ถิ่น – เยาวชนดอยช้างป่าแป๋ – iLaw รับรางวัลเกียรติยศ “โกมลคีมทอง”

เน้นย้ำรางวัล หวังกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนบุคคล และองค์กรที่ทำงานเสียสละเพื่อสังคม ร่วมต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และรณรงค์ด้านสิทธิเสรีภาพประชาชน สร้างสังคมที่เป็นธรรม

วันนี้ (21 ก.พ. 2564) มูลนิธิโกมลคีมทอง มอบรางวัลบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2564 เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดการสนับสนุนบุคคลที่มีความเสียสละเพื่อสังคม โดยปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลทั้งองค์กร และบุคคล ประกอบด้วย เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, กลุ่มเยาวชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รับมอบรางวัลบุคคลเกียรติยศ
มูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2564

สุภาภรณ์ มาลัยลอย  ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) เป็นตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ขึ้นรับรางวัลฯ ขณะที่ทางเครือข่ายฯ ได้กล่าวแสดงความรู้สึกผ่านวิดิโอ ยืนยันถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในชุมชน

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น : ก่อตั้งในปี 2547 เป็นการรวมตัวจากผู้คนหลากหลายใน อ.จะนะ จ.สงขลา ร่วมกันขับเคลื่อน และติดตามนโยบายที่เกี่ยวกับโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรชุมชนอย่างต่อเนื่องถึง กระทั่งล่าสุดได้ร่วมกันคัดค้านโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งถูกมองว่าเป็นผลพวงมาจากการใช้อำนาจรัฐอนุมัติโครงการ โดยมอบอำนาจให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการในปี 2559 เพื่อใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ อ.จะนะ รวม 3 ตำบล คือ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม เนื้อที่กว่า 16,753 ไร่ เพื่อเปลี่ยนให้เป็น นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้

การต่อสู้กับนโยบายการพัฒนาที่พวกเขามองว่าไม่เป็นธรรม และขาดการมีส่วนร่วมของผู้คน เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นตลอดช่วงที่ผ่านมา เป็นเครื่องย้ำเตือน และยืนยันว่าการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องฟังเสียงและข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

ขณะที่ จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้ง และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ขึ้นรับรางวัล พร้อมระบุว่า ยังคงห่วงการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง และย้ำถึงการรักษาสังคมไทยให้มีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) : ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมหลักการทางประชาธิปไตย การเคารพเสรีภาพในการแสดงออกสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เพื่อนำไปสู่ระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม การทำงานเน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ โดยเน้นการติดตามศึกษาข้อมูล เผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้คนตื่นตัวกับปัญหา

iLaw ยังเคลื่อนไหวรณรงค์ เพื่อลดบทบาทของกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจ และให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร้ขอบเขต ด้วยการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษต่าง ๆ เช่น กฎหมายด้านความมั่นคง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีงานรณรงค์ต่อต้านการเซ็นเซอร์และแบนภาพยนตร์ ด้วยเหตุผลทางศีลธรรมอันดีงาม และการรณรงค์เพื่อหยุดการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่ 2 เพื่อเน้นย้ำ ส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย การเคารพเสรีภาพในการแสดงออกสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

อย่างกิจกรรมล่าสุด คือ การรณรงค์แก้ไข รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งในโลกออนไลน์ และบนท้องถนน เพื่อแก้ไขและยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่ถูกมองว่า ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการมีกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายต่าง ๆ ซึ่งในครั้งล่าสุดนี้ มีผู้ร่วมรณรงค์มากกว่าแสนรายชื่อ และแม้จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ เป็นที่มาของการรับรางวัลบุคคลเกียรติยศประจำปีนี้

ส่วนกลุ่มเยาวชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน ได้ส่งตัวแทนเยาวชน ขึ้นรับรางวัล พร้อมระบุถึงความสำคัญของการดูแลผืนป่า และการจัดการกับปัญหาหมอกควันไฟป่า เพื่อต้องการบอกให้สังคมเข้าใจว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เป็นผู้ทำลายป่าและสร้างมลพิษ แต่ได้ร่วมกันปกป้องผืนป่าด้วยจิตวิญญาณ

กลุ่มเยาวชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ : ชุมชนบ้านดอยป่าแป๋ หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่ในป่า มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ชุมชนปกาเกอะญอตั้งขึ้นมามากกว่า 200 ปี  แต่ทุกวันนี้สังคมไทยมีมายาคติที่ฝังรากลึกลงไปในความคิดว่า กลุ่มชาติพันธ์ กะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ เป็นผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่อื่น และเป็นผู้ที่ทำลายป่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำมายาคติดังกล่าว จากการปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า จากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เห็นว่าชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเป็นผู้บุกรุกป่า ทั้งที่ในความจริงจากงานศึกษาวิจัยจำนวนไม่น้อย พบว่า วิถีชีวิต ความเชื่อ ภูมิปัญญา ของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีความพยายามรักษาผืนป่าควบคู่กับการดำรงชีวิต เพราะพวกเขาเชื่อว่า “ป่า” คือต้นกำเนินของชีวิต และเป็นพื้นที่จิตวิญญาณ  ปัจจุบันชุมชนดูแลพื้นที่ป่าต่อจากบรรพชน มีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนใช้พื้นที่เพียงร้อยละ 2 ของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด โดยใช้เวลาในการเพราะปลูกระยะสั้น และปล่อยให้พื้นที่ได้พักฟื้นในระยะยาว หมุนเวียนแบบนี้ไปเพื่อให้สภาพดินได้ฟื้นฟู และเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการทำให้รักษาระบบนิเวศของป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

ป่าผืนนี้ได้รับการดูแลจากการร่วมมือของชาวบ้าน และเยาวชนในชุมชนในการป้องกันไฟป่า เป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งได้กำลังหลักจาก เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการทำเขตแนวกันไฟความยาว 30-40 กิโลเมตรควบคู่กับการสำรวจ เฝ้าระวังครอบคลุมพื้นที่ 21,034 ไร่ รวมถึงการลาดตระเวน เผาชน เพื่อลดการสะสมของเชื้อเพลิง หรือในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถทแนวกันไฟได้ ก็ใช้ระบบสปริงเกอร์กระจายน้ำในระยะกว้าง แต่บางจุดก็มีไฟฟื้นขึ้นมาเพราะไม่ได้ดับท่อนซุงขนาดใหญ่ซึ่งถูกไฟไหม้ เยาวชนกลุ่มนี้จึงตรวจสอบ และป้องกันอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน  

แม้การปกป้องผืนป่าจากอัคคีภัยจะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และกำลังคนจากภาครัฐ แต่การร่วมแรง รวมใจกันปกป้องผืนป่าของพวกเขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาไม่ได้เป็นผู้บุกรุกทำลายผืนป่า เพราะป่า คือ บ้าน และพื้นที่จิตวิญญาณ ของชุมชน ที่ไม่อาจสูญเสียไปได้เลยแม้เพียงตารางนิ้วเดียว

ภายในงานยังมีวงเสวนา  “50 ปี อุดมคติการศึกษาไทยเปลี่ยนไปหรือไม่?” ผ่านวิทยาการหลากหลายเจนเนอเรชั่นที่ทำงานอยู่ในวงการการศึกษา  ภายในวงเสวนาเห็นตรงกันว่า ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันรัฐยังคงขาดความจริงใจการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยชวนสังคมต่อยอดว่า จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษา เป็นเครื่องมือที่ช่วยปลดปล่อย และยกระดับความเป็นมนุษย์ได้ ต่อสู้เชิงความคิดระยะยาว

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน