ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ปีนี้ ‘วิเชียร ทาหล้า’ ผู้จัดการบ้านเตื่อมฝัน จ.เชียงใหม่ เป็นปาฐก ย้ำแนวทาง สร้างคุณค่า ฟื้นชีวิต คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ ‘คนไร้บ้าน’
วันนี้ (25 ก.พ.66) มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2566 ครั้งที่ 49 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของ ‘ครูโกมล คีมทอง’ ครูผู้เสียสละทำตามอุดมการณ์ที่อยากเห็นสังคมไทยก้าวหน้า และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2514 โดยจัดงานเชิดชูเกียรติบุคคล ผู้ทำงานขับเคลื่อนสังคมสร้างสรรค์ เพื่อสานต่อปณิธานของครูโกมล คีมทอง ซึ่งปีนี้มี 4 บุคคล/องค์กร ได้รับโล่เกียรติยศ ได้แก่
1. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมบ้านป่าผาก
ถือเป็นตำนานการต่อสู้อันยาวนานของกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เพื่อที่ดินทำกินตามวิถีวัฒนธรรมของตนเอง ปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่า ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากมีการประกาศป่าสงวนฯ ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำป่าผาก ที่เป็นพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ชุมชนจำนวน 45 ครอบครัว พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนและที่อยู่อาศัย ถูกป่าสงวนฯ ประกาศทับเกือบทั้งหมด โดยชาวบ้านไม่มีโอกาสคัดค้าน
ปัจจุบันแม้จะได้มีการจัดสรรพื้นที่ 106 ไร่ ภายในพื้นที่ผ่อนปรนให้กับชุมชนจำนวน 15 ครอบครัว ได้ทำประโยชน์แบบกรรมสิทธิ์ร่วม แต่ก็ไร้ความมั่นคงในชีวิตเพราะยังคงไร้ซึ่งสิทธิตามกฎหมาย พื้นที่ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะดำรงชีพตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมที่เน้นการรักษาป่ารักษาคน พวกเขาจึงยังต่อสู้และคาดหวังว่าจะได้สิทธิทางวัฒนธรรมกลับคืนมาเพื่อที่จะร่วมปกป้องวิถีชีวิตและรักษาผืนป่าของบรรพชนสืบไป
2. วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายอาสาสิทธิมนุษยชน
วราภรณ์ เป็นหนึ่งในคณะทนายความของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ขอความช่วยเหลือรวมทั้งเป็นทนายความในคดีการหายตัวไปและการฆาตกรรม ‘บิลลี่’ หลานชายของปู่คออี้ และคดีชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินคดีเมื่อปี 2562 ล่าสุดเดือนสิงหาคม 2564 วราภรณ์ ถูกเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในข้อหาแจ้งความเท็จเนื่องจากการเข้าร้องทุกข์ในคดีไล่รื้อที่ดินดังกล่าว
เธอยังเชื่อในหลักการสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ได้ร่วมก่อตั้ง ‘Rising Sun Law’ โดยกลุ่มนักกฎหมาย ทนายความ ที่มีประสบการณ์ในการทำงานต่อสู้เพื่อเรียกร้องและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาวบ้านที่ปกป้องสิทธิของชุมชนและตนเอง ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เธอคิดว่าการให้สังคมมีพื้นที่ในการเรียกร้องสิทธิของทุกคนได้นั้นจะทำให้ผู้คนทุกกลุ่มในสังคมได้รับความเป็นธรรมโดยเสมอกัน
3. สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง นักพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน
นับแต่ปี 2545 – ปัจจุบัน สิริศักดิ์ ต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ปกป้องสิทธิของชุมชนและตนเองจากผลกระทบของโครงการโขง เลย ชี มูล ที่มุ่งสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำภาคอีสาน ทั้งในลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมทั้งหมดประมาณ 14 เขื่อน ภายใต้การบริหารจัดการของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อนจะถ่ายโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตลอดการทำงานกว่า 20 ปีที่ผ่านมา สิริศักดิ์ เห็นการดำเนินการของภาครัฐในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่มักจะศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนอย่างไม่รอบคอบด้านและขาดการมีส่วนร่วมส่งผลให้เกิดการทำลายภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของคนในพื้นที่ทั้งยังเกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง เขามุ่งทำงานเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้รู้ข้อมูลสิทธิชุมชนเพื่อชาวบ้านจะได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ของชุมชนและตนเองหากได้รับผลกระทบจากการดำเนินการพัฒนาของรัฐ
4. ภควินท์ แสงคง ผู้ประสานงานเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยผลัดถิ่น
ภควินท์ เข้ามาทำงานสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเป็นเวลายาวนานเริ่มจากการทำงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนด้อยโอกาสในชุมชนแออัด มาสู่การทำงานเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เห็นและเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างของการแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น จึงเป็นส่วนสำคัญในการ ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติการและร่วมผลักดันมาตรการต่างๆ นำไปสู่การคืนสัญชาติไทยและสิทธิความเป็นพลเมืองไทยให้กลุ่มดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน
รวมถึงการร่วมผลักดันให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นได้รับสิทธิ โอกาส และมีพื้นที่ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสร้างงานวิชาการ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของภาครัฐ เป็นที่ปรึกษาและคณะทำงานของภาคประชาชนในประเด็นปัญหาด้านสิทธิและสถานะบุคคล โดยเฉพาะคนไทยพลัดถิ่น นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมในท้ายที่สุด
สำหรับปาฐก หรือ ผู้กล่าวปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ครั้งที่ 49 ปีนี้ คือ วิเชียร ทาหล้า ผู้จัดการบ้านเตื่อมฝัน ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, เครือข่ายคนไร้บ้าน และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นที่พักพิงของพี่น้องในยามไร้ที่อยู่อาศัย
วิเชียร ทาหล้า กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “จากพี่เลี้ยงเด็กค่าย สู่อาสาสมัครเพื่อคนไร้บ้าน” บอกเล่าเรื่องราวของตัวเขา ว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ชนพื้นเมืองของ จ.เชียงใหม่ จากวันที่เคยเป็นพนักงานทำงานทั่วไป ก่อนจะได้เข้าร่วมงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาวิถีเกษตรเคมี ทำให้เขาได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากเกษตรเคมีทั้งเรื่องความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน ผลกระทบสุขภาพของทั้งคนปลูกและคนกิน แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมดของเกษตรกร ความไม่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นทำให้เขารู้สึกผิดหวัง
ต่อมาได้มีโอกาสทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบ และผู้อพยพบริเวณตะเข็บชายแดน จากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ประเทศเพื่อบ้าน ทำให้เขาได้ทำงานในประเด็นข้ามชาติ ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ความหวาดกลัว การใช้ความรุนแรง และเป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสังคมของเขาเช่นกัน
หลังจากนั้น วิเชียร ได้เป็นแกนนำในการก่อตั้ง กลุ่มกรีนเรนเจอร์(Green Ranger) เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนที่สนใจมาทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักสวนครัว ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมต้นไม้ จัดสวนผักให้แก่ชุมชน บริการส่งผักอินทรีย์ เป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกคนที่อยากปลูกผัก จัดอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ
เขาสนใจแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัยสำหรับเมือง จึงเข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เพื่อทำให้เกิดแหล่งงานและแหล่งอาหารสำหรับคนกลุ่มเปราะบางในเมืองระหว่างการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563-2564 และเป็นตาข่ายทางสังคมรองรับคนที่ตกหล่นจากความช่วยเหลือที่จำเป็นในสภาวะวิกฤต รวมทั้งการทำงานเพื่อสร้างเมืองที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ทำให้วิเชียรได้รู้จักกับชุมชนต่าง ๆ ในเมือง จนเป็นต้นทุนสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มคนเปราะบางที่หลุดจากระบบความช่วยเหลือ
วิเชียร ยังเห็นว่า กลุ่มคนไร้บ้านที่อยู่ตามพื้นที่สาธารณะนั้น ออกมาด้วยแรงผลักดันจากปัญหาแตกต่างหลากหลายในชีวิต เหตุผลหนึ่งคือ พวกเขาอยากให้ผู้คนมองเห็นและรับรู้การมีอยู่ของตน สำหรับเขาแล้ว การเป็นคนไร้บ้าน คือสภาวะอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่ใช่สภาวะที่ถาวร คนไร้บ้านสามารถกลับเป็นคนที่มีคุณค่าได้ ดังนั้นงานของเขาที่บ้านเตื่อมฝัน จึงเป็นการสร้างพื้นที่ให้คนเหล่านั้นกลับมาตั้งหลักเริ่มจากมีที่อยู่อาศัยอันมั่นคงปลอดภัย และช่วยให้เขาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ โดยเชื่อในศักยภาพที่แต่ละบุคคลมีอยู่ว่าหากมีพื้นที่และโอกาส คนที่ล้มก็ลุกขึ้นมายืนได้ เชื่อว่าการทำให้คนได้เห็นศักยภาพของตนเองจะช่วยฟื้นคุณค่าของเขากลับมากระบวนการนี้ยังช่วยให้ได้เห็นกันและกัน อยู่ร่วมกันในเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมและก้าวข้ามข้อจำกัดต่างกันได้
“งานของเราคือการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับคนไร้บ้าน แม้หลายคนจะตั้งคำถามว่า ทุกคนต้องมีบ้าน จะไม่มีบ้านได้อย่างไร แต่เงื่อนไขทางสังคมมากมายที่ทำให้คนเปราะบาง ถ้าไม่มีใครสนใจเขาก็กลายเป็นคนชายขอบที่ตกขอบสังคมไปอย่างนั้น แต่เราเชื่อว่าคนเหล่านี้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเราได้ เขาต้องการพื้นที่ตั้งหลักเพื่อให้สามารถมีชีวิตใหม่ได้ เราเข้าไปทำงานกับเขาเพื่อที่จะถามเขาว่าอยากมีทางเลือกในชีวิตไหม เราสร้างพื้นที่พักพิงให้กับเขา สนับสนุนให้สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้ หาวิธีที่ทำให้เขาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ กระบวนการพัฒนาตัวเองจากภายใน ให้ความรู้เรื่องการสื่อสาร สร้างทัศนคติ ให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในสังคม ให้พวกเขาได้เห็นว่าตัวเองสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้”
วิเชียร ทาหล้า ผู้จัดการบ้านเตื่อมฝัน