อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำท่วม ชดเชย 1,340-4,048 บาทต่อไร่ พบ นาข้าวโคราช ขอนแก่น ชัยภูมิ เสียหายมากที่สุด
ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านและพายุที่มีผลทำให้เกิดน้ำท่วมเกือบทุกภาคของไทย รวม 58 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้แม่น้ำสายหลัก ซึ่งนำมาสู่ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร ล่าสุดมีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือแล้ว 52 จังหวัด พบ 3 จังหวัดภาคอีสานนาข้าวเสียหายมากที่สุด
สำหรับพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรวม 58 จังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ระบุว่า พื้นที่รวม 5,190,233.50 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,465,053.50 ไร่ โดยพื้นที่ข้าว 3 จังหวัดแรก ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ 1. นครราชสีมา 462,644.50 ไร่ 2. ขอนแก่น 342,237.00 ไร่ และ 3. ชัยภูมิ 332,430.00 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,645,440.00 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 79,740.00 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 621,265 ราย ทั้งนี้ มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือแล้ว 52 จังหวัด
เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ และให้การช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ จำแนกเป็น ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 4,048 บาทต่อไร่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร อยู่ระหว่างดำเนินการสนับสนุนชีวภัณฑ์ ท่อนพันธุ์ และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลังโดยเร่งด่วน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ณ ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2565 พบว่ายังมี พืชไร่และพืชผัก 1,551,220.00 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 53,397.25 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 580,787 คน
“ก่อนหน้านี้ ก็ได้เตรียมสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ช่วยเกษตรกรลดผลกระทบโรคใบด่าง-น้ำท่วมซ้ำ หลังจากการลงพื้นที่สำรวจและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พบว่า มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังได้รับความเสียหายประมาณ 1.23 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศกว่า 9.32 ล้านไร่”
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้สั่งการให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เร่งดำเนินการผลิตท่อนพันธุ์เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ว ประกอบกับที่ผู้แทนสมาคมมันสำปะหลัง 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้าพบเพื่อหารือถึงผลกระทบและเสนอความต้องการของเกษตรกรจากกรณีของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
รวมทั้งการเสนอขอสนับสนุนการดำเนินการในเรื่อง 1) การสำรวจพื้นที่ระบาด 2) การสนับสนุนต้นพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่างจากพื้นที่สีเขียวแจกจ่ายพื้นที่สีแดง 3) การผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดต่อเนื่องในพื้นที่สีเขียว 4) การวิจัยทดสอบพันธุ์ทนทานและผลผลิตอย่างต่อเนื่อง และ 5) การวิจัยทดสอบการเขตกรรม เช่น การใช้สารเพิ่มความสมบูรณ์และการเจริญเติบโต และสำหรับกรณีโรคใบด่างมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบผ่านคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังแล้ว