สานต่อแนวคิดดาบวิชัย ‘ถึงตัวไม่อยู่ แต่ต้นไม้ที่ปลูกไว้จะเติบโตต่อไป’

‘อรยา สูตะบุตร’ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees เล่าประสบการณ์ทำงานร่วมกับ ‘ดาบวิชัย’ ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการปลูกต้นไม้ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมชวนประชาชนหันมาดูแลพื้นที่สีเขียว เพื่อส่งมอบมรดกสีเขียวสู่ลูกหลานในอนาคต

อรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees เล่าว่า เธอเคยทำงานร่วมกับ “ดาบวิชัย” หรือ ร.ต.ต. วิชัย สุริยุทธ (ผู้ปลูกต้นไม้ทั้งหมด 3 ล้านต้น) และ มูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ โดยมองว่า ดาบวิชัยเป็นตัวอย่างของคนที่ทำดี มีธรรมะ ผู้ยืนหยัดที่จะปลูกต้นไม้ให้มากที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า ‘ถึงตัวจะไม่อยู่แล้ว แต่ต้นไม้ที่ปลูกยังคงอยู่’ เป็นคำที่จำได้ขึ้นใจ

“ดังนั้นไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ที่ไหน ถ้าเราตั้งใจปลูกตั้งใจดูแล จนมันอยู่เลยชีวิตของเราไป เท่ากับว่าเราเริ่มที่จะดูแลชีวิตและอนาคตของลูกหลานตั้งแต่ปัจจุบันนี้เลย โดยที่เราไม่ได้เน้นประโยชน์ที่จะตกอยู่กับตัวเราหรือคนปลูก แต่เป็นการส่งต่อให้รุ่นต่อ ๆ ไป ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน แม้อยู่ในเมืองก็ทำได้เหมือนกัน ดาบวิชัย เคยบอกว่าเรื่องอื่น ๆ เรื่องงบประมาณ เครือข่ายคอนเน็กชัน เขาไม่มีหรอก รู้อย่างเดียวว่าตัวเองปลูกต้นไม้เป็น ที่ไหนก็ได้ที่มีต้นไม้ให้ปลูก และมีที่ให้ลงก็ปลูกเลย ไม่ต้องรอคนอื่น ไม่ต้องรอระบบ งบประมาณหรืออะไร”

ปัจจุบัน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่น ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ มีรายงานว่า ปัจจุบันมียอดจองปลูกต้นไม้ 1,641,310 ต้น ปลูกแล้ว 719,084 ต้น
เพิ่มขึ้นจากวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 11,181 ต้น

ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees กล่าวต่อว่า สำหร้บ กทม. ที่มีนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ที่ปลูกไปแล้วอาจจะไม่ได้เป็นต้นไม้แข็งแรงทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่ กทม. มีจำกัด จึงต้องปลูกแซมต้นใหญ่ และอาจจะได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง จึงอยากชวนประชาชนให้คิดแบบดาบวิชัย คือไม่ต้องรอไปปลูกในที่ไหน รอรัฐปลูกให้ หรือรอใคร แต่เริ่มปลูกได้เลยที่บ้านเรา คิดแค่ว่าให้ประโยชน์ต่อเรา ทั้งชีวิตของเรา และไปถึงคนอื่น ๆ รุ่นหลังด้วย

“ตอนนี้ทางเครือข่ายคณะทำงาน นอกจากทำงานร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีรุกขกรดูแลต้นไม้ในทุกเขตแล้ว ยังได้เพิ่มบทบาทในการทำงานกับสำนักโยธามากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาจะมีปัญหาต้นไม้กับทางเท้า เช่น ทำทางเท้าแล้วต้นไม้ตาย ตอนนี้ก็ให้เราเข้าไปร่วมทำงานด้วย ตั้งแต่การวางแผน การออกแบบ ให้มีถนนเดินดีและต้นไม้สวย ตอนนี้มีถนนต้นแบบ เช่น ที่สีสม และตลอดเส้นคลองผดุง ออกแบบตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน มาแล้วเสร็จในยุค อ.ชัชชาติ ซึ่งท่านเห็นว่าดี ก็ปูนโยบายทำต่ออีก 30 กว่าเส้นทาง เช่น อโศก ส่วนค่าใช้จ่าย กทม. รับผิดชอบหลัก และมีส่วนร่วมสนับสนุนจากเอกชนในพื้นที่ด้วย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active