พบสถานการณ์ลุกลาม เขตบางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ จับมือ กรมประมง ลุย 6 มาตรการกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ หาทางเยียวยาเกษตรกรรายได้ลดลง 10 เท่า
วันนี้ (13 ก.ค. 67) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล รวมทั้งผู้แทนกรมประมง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในเขตบางขุนเทียน ซึ่งปัญหานี้เริ่มต้นจากพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ส่งผลกระทบมาถึงพื้นที่ กทม. ในพื้นที่ เขตบางขุนเทียน, ทุ่งครุ และบางบอน ซึ่งมีเกษตรกรประมาณ 900 ราย ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ มีวังกุ้ง วังปลา ได้รับความเสียหาย รายได้ลดลงเป็น 10 เท่า โดย กทม. จะทำงานร่วมกับกรมประมง เพื่อหาวิธีเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า สาเหตุที่ปลาหมอคางดำมีจำนวนมาก เพราะแพร่พันธุ์ได้เร็ว ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และกินปลาเล็ก ๆ และไข่ปลาเป็นอาหาร ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กทม. จึงต้องเร่งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ศรายุทธ์ เมธินาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง กรมประมง บอกว่า กรมประมงได้วางมาตรการในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด 6 มาตรการ ได้แก่
- การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ
- การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในธรรมชาติ
- การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์
- การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจาย
- การสร้างความรู้และการมีส่วนร่วมในการกำจัด
- การติดตามประเมินผล โดยใช้ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ผู้ว่าฯ กทม. ยังย้ำว่า กทม. จะทำงานร่วมกับกรมประมงอย่างใกล้ชิดและหาวิธีเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพราะรายได้ของเกษตรกรลดลงอย่างมากจากปัญหานี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการแพร่ระบาดเพียงใน 3 เขตของ กทม. แต่ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปในพื้นที่อื่น ๆ จึงต้องร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างดีที่สุด