‘ผู้ประสานงานสมัชชาสวนยางยั่งยืน’ ชี้ วิกฤตชาวสวนยางมีอีกเพียบ กลไกกองทุนฯ ยังช่วยไม่ไหว ทำไม ? ต้องโยกเงินไปใช้ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ เสนอรัฐใช้กองทุนอื่นตรงเป้ามากกว่า ด้าน กยท. ระบุ กฎหมายเปิดช่องกองทุนฯ หารายได้ เชื่อรับซื้อปลาหมอคางดำ มาทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร รัฐได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง
จากกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุภายหลังการประชุม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ระดับกระทรวงและระดับจังหวัด ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้มาตรการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาหมอคางดำ โดยเบื้องต้นได้ประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำ ราคากิโลกรัมละ 15 บาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนของการยางแห่งประเทศไทย มารับซื้อเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยนั้น
ล่าสุด วันนี้ (17 ก.ค. 67) สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ The Active ว่า ตามที่ รมว.กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้ กยท. ดำเนินการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ทาง กยท. เตรียมใช้เงินจากกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เปิดช่องให้สามารถใช้เงินเพื่อทำธุรกิจได้ ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ ดังกล่าว มีเงินอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะจัดสรรมาใช้เพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ 50 ล้านบาท
“กองทุนพัฒนายางพารา มีหน่วยที่สามารถทำธุรกิจ หรือหารายได้มาสมทบกองทุนฯ โดยกองทุนฯ นี้จัดเก็บสมทบจากภาษีส่งออกยางพารา กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งกฎหมายก็เปิดช่องให้หารายได้เลี้ยงตัวเอง จึงมองว่าการใช้เงินกองทุนฯ มาเพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ ไปพร้อม ๆ กับการหาแนวทางเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ด้วยการจัดสรรเงินไปรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ถือว่าได้ช่วยแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ และช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไปด้วยในตัว”
สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล
รองผู้ว่าฯ กยท. บอกอีกว่า สำหรับแนวทางเบื้องต้น ได้วางไว้คร่าว ๆ โดยเตรียมนำร่องในจังหวัดภาคกลางที่พบการระบาดหนักของปลาหมอคางดำ แล้วจึงค่อยกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งรูปแบบการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ เริ่มต้น 50 ล้านบาทนั้น จะให้ผ่านสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือแพปลา ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมประมง ให้ทำหน้าที่รับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกร หรือ ประชาชนที่จับมาขายในกิโลกรัมละ 15 บาท และเตรียมพิจารณาให้ค่าดำเนินการขนส่งอีก กิโลกรัมละ 5 บาท
เมื่อรับซื้อปลาหมอคางดำไว้แล้ว จะมีพนักงานตรวจรับ ก่อนขนส่งไปยังโรงงานปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ใน จ.กาญจนบุรี ที่ กยท. ว่าจ้างเอาไว้ให้ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เมื่อได้ปุ๋ยมาแล้ว กยท. จะว่าจ้างบริษัทจัดทำเป็นแพคเก็จ เบื้องต้นคาดว่าต้นทุนอยู่ที่ลิตรละ 80 บาท โดยจะจำหน่ายให้กับเกษตรกรลิตรละ 100 บาท
“ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่เตรียมผลิตจากปลาหมอคางดำ ถือว่าช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนลงได้ เพราะในตอนนี้ต้นทุนของปุ๋ยที่ใช้อยู่ตกอยู่ที่ลิตรละกว่า 200 บาท แต่เราขายให้เกษตรกรแค่ 100 บาท ตอบโจทย์การลดต้นทุนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง สวนปาล์ม และนาข้าวได้ดี ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และ กยท. เองก็ไม่ได้ขาดทุนอะไร เพราะมีส่วนต่างจากกำไรลิตรละ 20 บาทด้วย ถือว่าเป็นการใช้เงินกองทุนฯ ได้อย่างคุ้มค่า”
สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล
วิกฤตสวนยางเพียบ กลไกกองทุนฯ ยังช่วยไม่ไหว อย่าโยกเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
ทางด้าน กำราบ พานทอง ผู้ประสานงานสมัชชาสวนยางยั่งยืน ในฐานะอดีตคณะทำงานพิจารณางบประมาณว่าด้วยการสงเคราะห์ปลูกแทน กองทุนพัฒนายางพารา มองว่า กองทุนฯ ถูกกำหนดบทบาทในแง่การพัฒนาชาวสวนยาง พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มกิจกรรมในภารกิจของกองทุนฯ ถ้าจะเอาเงินกองทุนฯ ไปส่งเสริมกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับยางพารา อาจจะไม่สมควร
“เงินกองทุนฯ ที่เก็บจากภาษีส่งออกยางพารา 2 บาทต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมาก็ยังไม่พอบริหารจัดการเลยโดยเฉพาะในช่วงที่ยางราคาตก ซึ่งก็เพิ่งมราคาดีขึ้นในปีสองปีนี้เอง ก่อนหน้านี้ 2 – 3 ปีก่อนเงินกองทุนฯ ก็ติดลบ 4,000 – 5,000 ล้านบาท มีเงินเข้าน้อย เงินออกเยอะ จึงมีข้อเสนอว่าอย่างน้อย ๆ ถ้ากองทุนฯ ติดลบแบบนี้ ก็ต้องวางมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหากองทุนพัฒนายางพารา ต้องมีแผนนให้ชัดเจน แต่ถ้าเอาเงินไปใช้นอกวัตถุประสงค์อีกจะยิ่งแย่”
กำราบ พานทอง
กำราบ ระบุด้วยว่า ยังมีอีกหลายเรื่องเร่งด่วนที่กองทุนฯ ต้องเตรียมเงินไว้เพื่อรับมือปัญหายางพารา เช่น วิกฤตโรคอุบัติใหม่ของยางพารา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนคาดว่าปลายปีนี้ฝนตกชุกก็มีโอกาสกลับมาระบาดอีก ที่ผ่านมาระบาดไปล้านกว่าไร่ กยท.ยังมีมีเงินเพียงพอช่วยเหลือชาวสวนยางเลย จึงจำเป็นต้องเตรียมงบฯ เอาไว้เพื่อดูแล เยียวยา และหาทางแก้ปัญหาด้วย นี่ยังไม่นับรวมวิกฤตภัยแล้ง น้ำท่วม ก็ต้องเอาเงินกองทุนฯ ไปช่วยชาวสวนยาง แต่พอต้องเอาเงินไปในภารกิจอื่น ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น
“เมื่อมีปัญหาวิกฤตกับสวนยาง กยท. ก็ยังแก้ได้ไม่ดี ทางออกจึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดแนวทางการทำสวนยางยั่งยืน โดยรัฐต้องสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำ รัฐต้องช่วยสมทบ ตอนนี้กองทุนพัฒนายางพารา ให้สงเคราะห์ปลูกแทนไร่ละ 16,000 บาท แต่มันไม่พอ และไม่ช่วยจูงใจให้ชาวสวนยางปรับเปลี่ยนวิธีการทำสวนยาง ถ้ายังเอาเงินไปใช้นอกวัตถุประสงค์ สวนยางยั่งยืนก็ไปไม่รอด ดังนั้นทางที่ดีเห็นว่ารัฐบาลควรใช้เงินจากกองทุนฯ อื่น เช่น กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร หรืออีกหลายกองทุนฯ ของรัฐบาลจะเหมาะสม และตรงตามวัตถุประสงค์ โดยเอากองทุนที่มีจำนวนเงินมากกว่า มีเงื่อนไขที่ชัดเจนกว่านี้ น่าจะดีกว่า”
กำราบ พานทอง