‘วิฑูรย์’ ไม่กังวล CPF ฟ้องหมิ่น ปม ‘ปลาหมอคางดำ’

ย้ำเดินหน้าเปิดโปงข้อมูลต่อ ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ นักวิชาการ หวัง บริษัทยักษ์ใหญ่จริงใจ ไขข้อสงสัยต่อสังคม เปิดโอกาสคนภายนอกร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นทางเลือกที่ควรทำ มากกว่าการฟ้องร้อง    

วันนี้ (30 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) พร้อมด้วยทนายความ เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ภายหลังถูก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีการเผยแพร่ข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ

วิฑูรย์ ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวและการเผยแพร่ข้อมูล ของมูลนิธิฯ เป็นแนวทางการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคเกษตรกร เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับกรณีการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และทำลายสายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ดังนั้นจำเป็นที่จะเล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ พร้อมทั้งยืนยันว่า ยังเดินหน้าติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่กังวลใจในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ส่วนการถูกแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า เกิดขึ้นหลังเวทีวิชาการสาธารณะ เรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ“  จัดโดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

โดยได้รับหมายเรียก เมื่อวันที่  6 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากวันที่เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม ฟ้องบริษัท CPF เรียกร้องค่าเสียหาย กว่า 2,480 ล้านบาทเพียงหนึ่งวัน โดยแจ้งให้พบพนักงานสอบสวนในวันที่ 12 กันยายน แต่ได้ขอเลื่อนการเข้าพบเป็นวันที่ 30 กันยายน เพราะเห็นว่ากระชั้นชิดเกินไป

ภาคประชาชน ย้ำ ไม่แก้ปลาหมอคางดำ ทุกอย่างหมดสิ้น

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนคนรักษ์แม่กลอง เปิดเผยว่า วันนี้มาให้กำลังใจ จริง ๆ แล้วการต่อสู้เรื่องแบบนี้ปล่อยให้ใครเดียวดายไม่ได้ โดยฌฉพาะพื้นที่สมุทรสงครามซึ่งเกิดผลกระทบเป็นที่แรก

“คุณวิฑูรย์เสียสละมาเป็นหัวหอกในการต่อสู้ เราไม่ได้สู้กับอะไร เรามองปัญหาเป็นศัตรู ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ ความมั่นคงทางอาหารจะไม่เหลือเลย เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทุกอย่างหมดสิ้น เป็นเรื่องใหญ่มาก คิดว่าสิ่งที่คุณวิฑูรย์ทำจะไม่เสียเปล่า ไม่เดียวดาย”

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนคนรักษ์แม่กลอง

สอดคล้องกับ ตัวแทนเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ ซึ่งวันนี้มีตัวแทนจาก จ.สงขลา และนครศรีธรรมราช มาร่วมให้กำลังใจ มองว่า การระบาดปลาหมอคางดำเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายอย่าง เรื่องนี้พี่น้องประชาชนจับตาดูอยู่ เพราะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายชีวภาพ ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง อยากเรียกร้องรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้จริงจัง และตรงไปตรงมา

หวัง CPF สู้ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง ไขข้อสงสัยสังคม

ขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยมองว่า การฟ้องคดีของบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อคู่กรณีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นประชาชนทั่วไป ก็อาจทำให้ไม่กล้าทำอะไรต่อ ทำให้คนทั่วไปเกิดความกลัว  

ในมุมของบริษัทเองที่ผ่านมาก็ออกมาชี้แจงแล้ว และยืนยันในประเด็นที่ฟ้อง เพราะอ้างถึงการใช้ข้อมูลเท็จ เช่น ภาพบางภาพที่ถูกนำมาเผยแพร่ไม่ได้มาจากฟาร์มของตัวเอง ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ซึ่งในมุมบริษัทก็เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้

สิ่งที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกต คือ กรณีปลาหมอคางดำ แตกต่างออกไปเพราะสมมติว่า บริษัทหนึ่งค้าขายอยู่ดี ๆ กลับมาโดนคนมาดิสเครดิต มาโจมตีทำให้เสื่อมเสีย ก็มีเหตุผลที่จะฟ้องร้อง แต่นี่คือกรณีปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง การระบาดกระทบถึงเกษตรกร ชาวประมง ในหลายจังหวัด ทำให้บริษัทถูกเพ่งเล็งว่าเป้นต้นเหตุของการระบาดหรือไม่

“บริษัทเป็นผู้นำเข้าปลาชนิดนี้ เป็นข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดที่โยงเข้ากับการเป็นต้นเหตุของการระบาด หากบริษัทคิดว่า BIOTHAI ใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็ต้องเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงมาสู้กัน ชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะให้ชัดเจน จริง ๆ แล้ว เมื่อเป็นประเด็นสาธารณะที่มีข้อกังขา และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ ก็ควรบอกให้บริษัทเปิดให้บุคคลภายนอก เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการค้นหาความจริง โดยจะเป็นทั้งภาคประชาชน BIOTHAI หรือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบมาร่วมค้นหาความจริงด้วย เพราะกระบวนการสู้คดีหมิ่นประมาท ก็ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงอยู่แล้ว แต่ผู้คนในสังคมไม่ได้รับรู้ด้วย ไหน ๆ บริษัทก็ตรวจสอบอยู่แล้ว ก็ทำกระบวนการให้โปร่งใสไปเลย ทำให้สังคมเข้าใจตรงกัน อย่างน้อยบริษัทได้แสดงถึงความจริงใจ”

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี ยังยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการฟ้องร้องกรณีที่เป็นประเด็นสาธารณะแบบนี้ ระดับบริษัท CPF ควรใช้ทางเลือกที่เปิดกว้างให้สังคมหายสงสัย เปิดให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมค้นหาความจริง ซึ่งเป็นทางเลือกที่ควรทำมากกว่าการฟ้องร้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active