ผู้เสียหายจาก ‘ปลาหมอคางดำ’ แม่กลอง ลุยฟ้อง 2 ศาล เอาผิด รัฐ – เอกชน

รวมตัวฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่ม เรียกร้องค่าเสียหาย จากบริษัทเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง 10 ราย ศาลนัดไต่สวน 4 พ.ย.นี้ ว่าจะรับฟ้องหรือไม่ พร้อมยื่นศาลปกครอง เอาผิด 18 หน่วยงานรัฐ จี้ เอาผิด ‘กรมประมง’ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ หวัง 19 จังหวัดพื้นที่ระบาด รวมตัวฟ้องเพิ่ม ย้ำ สถานการณ์ปลาหมอคางดำ ยังไม่คลี่คลาย

วันนี้ (28 ต.ค. 67) ที่อาคารหน่วยวิทยบริการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดอินทาราม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ประชาคมคนรักแม่กลอง ร่วมกับ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สาขาวัดอินทราราม มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดเวทีวิชาการสาธารณะ เพื่อนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร กรณีผลกระทบจากการปัญหาปลาหมอคางดำ และการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม 

ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พูดถึง ความหลากหลายทางชีวภาพและปัจจัยสำคัญ การสร้างความมั่นคงทางอาหารของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกล่าวว่า ความหลากหลายทางอาหารยิ่งมีหลายชนิดเท่าไร ประชาชนหรือผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์ก็มีทางเลือก นั่นหมายความว่าความเหลื่อมล้ำจะยิ่งน้อยลง

โดยยกตัวอย่างบริเวณน่านน้ำไทยจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียงมีพื้นที่กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร พบว่า อย่างน้อย 381 ชนิดตั้งแต่ปลาตัวใหญ่สุดอย่างฉลามวาฬจนถึงปลาตัวเล็กอย่างปลาบู่ โดยแม่น้ำที่พบปลาหลากหลายที่สุดตอนนี้คือ แม่น้ำบางประกง

ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ
และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

ส่วนแม่น้ำแม่กลอง, ท่าจีน รวมถึงอยุธยา ประสบการณ์ของการเน่าเสียอย่างรุนแรง ปลาตายยกแม่น้ำ หลายครั้งทำให้ความหลากหลายน้อยลง ก็จะเกิด ผลที่เห็นชัดเจนว่าเวลามีเอเลี่ยนอย่างปลาหมอคางดำเข้ามา มักจะเกิดในพื้นที่ที่มีความหลากหลายของชนิดปลาน้อยลง

จึงเกิดข้อสงสัย ว่าปลาหมอคางดำไปประชิดแม่น้ำบางปะกงถึง 3 – 4 ปีแล้ว ทำไมชาวประมงหรือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังไม่พบความเดือดร้อนอย่างชาวยี่สาร นั่นก็เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งว่าทำไมความหลากหลายทางชีวภาพจึงสำคัญ ทั้งในเรื่องอาหารและความต้านทานต่อสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่เข้ามารุกราน

“ปลาหมอคางดำเป็นหนามยอกอกของชาวสมุทรสงคราม จนถึงชาวก้นอ่าวไทย และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้”

ชวลิต วิทยานนท์

โดยการเข้ามาของปลาหมอคางดำ นั้นสร้างผลกระทบคือแทนที่องค์ประกอบปลา และสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ทำลายอาชีพชาวประมงพื้นบ้านและเกษตรกร ทำลายความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค

ชวลิต ยังย้ำถึงแนวทางการฟื้นฟูว่า ต้องรักษาคุณภาพน้ำในทุกแม่น้ำให้ดีกว่า ป้องกันการเน่าเสียและตายหมู่ของปลาอย่างเข้มงวด ดูแลความหลากชนิดและระบบนิเวศ งดการก่อสร้างแบบทำลายในแหล่งน้ำ ส่งเสริมการประมงแบบยั่งยืน การแก้ไขจัดการแบบอิงธรรมชาติ และเข้มงวดการนำเข้าชนิดต่างถิ่นวิจัยให้แม่นยำก่อนอนุญาตนำเข้า

ชี้วิกฤต ‘ปลาหมอคางดำ’ เป้าใหญ่ ทุกจังหวัดต้องร่วมมือกันจัดการ

ขณะที่ ปัญญา โตกทอง แกนนำชาวบ้านแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม พูดถึงการตื่นตัวจัดการปัญหาปลาหมอคางดำว่า พอเห็นปัญหาก็ต้องรวมตัวเป็นเครือข่าย เพราะว่าทำจังหวัดเดียวเสียงไม่ดัง เป้าหมายมันใหญ่มาก เราจะต้องสร้างด้ามหอกให้ยาว ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ปัญหานี้ต้องทำให้เป็นศูนย์และต้องมีคนรับผิดชอบ 

ปัญญา โตกทอง แกนนำชาวบ้านแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม

“ขนาดเรามีประชาคมคนรักแม่กลองที่เข้มแข็งแต่ปัญหานี้เราก็ยังแก้ไม่ได้ ปล่อยเลยมา 10 กว่าปี ฉะนั้น เรากำลังไม่พอเพราะเป้าหมายนี้มันใหญ่ แต่ประชาคมคนรักแม่กลองก็ไม่หยุดนิ่ง สุดท้ายก็ปรึกษาหารือกับพี่น้องและเครือข่าย ไปที่สภาทนายความฯ และที่ต้องไปหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะมองว่า เขาละเมิดสิทธิ์เรา”

ปัญญา โตกทอง

ลุ้นศาลแพ่งรับฟ้องหรือไม่ 4 พ.ย.นี้

ส่วนประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร กิตติคุณ แสงหิรัญ คณะทำงานสิ่งแวดล้อมปลาหมอคางดำ สภาทนายความฯ บอกว่า ขณะนี้มีการทำเรื่องฟ้องเป็นคดีแพ่ง อยู่ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กับบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นคดีกลุ่ม โดยคดีแพ่งนี้จะมีการนัดไต่สวนคำร้องขอเป็นคดีกลุ่มในวันที่ 4 พ.ย.นี้

กิตติคุณ แสงหิรัญ คณะทำงานสิ่งแวดล้อมปลาหมอคางดำ สภาทนายความฯ

นอกจากนั้นยังยื่นต่อศาลปกครองฟ้องหน่วยงานราชการในส่วนของจำเลยประมาณ 18 หน่วยงาน หน่วยงานหลัก คือ กรมประมง ซึ่งศาลก็ได้มีการเรียกคณะทำงาน ทั้งทีมทนายความไปสอบถามในมูลเหตุของการฟ้องร้องขณะนี้คำฟ้องก็สมบูรณ์แล้ว

ปัญญา เสริมว่า จังหวัดสมุทรสงครามนั้นถือเป็นจังหวัดนำร่องที่ฟ้อง 2 ศาล โดยฟ้องหน่วยงานรัฐ 18 แห่งต่อศาลปกครอง และฟ้องบริษัทเอกชน ต่อศาลแพ่ง พร้อมเอาผิดหน่วยงานหลักอย่างกรมประมงที่รับผิดชอบ 19 จังหวัด

ขณะนี้ ศาลรับฟ้องแล้วแต่ปัญหาคือ ถ้าเราจะรวมกันจากปลาเล็ก ๆ ให้เป็นปลาใหญ่ คิดว่าจังหวัดอื่น ๆ ไม่เหมือนที่แม่กลองแน่นอน เช่น ที่ เพชรบุรี เพราะ เมื่อชาวบ้านเจอผลกระทบจากปลาหมอคางดำ อาชีพพวกเขาหาเช้ากินค่ำ อาจไม่มีเงินไปฟ้อง เมื่อทางสภาทนายความฯ บอกว่าต้องมีเงินวางศาลคนละ 1,000 บาท ชาวบ้านก็ถอนฟ้องจาก 100 กว่าคนเหลือแค่ 30 คน ที่พอจะต่อสู้ได้ ดังนั้นปัญหานี้จึงเป็นปัญหาสำคัญ 

“ที่แม่กลองยังโชคดีที่มีทุน และมีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง แต่มีเรื่องเงินเข้ามาก็เป็นเรื่องลำบาก มีการระดมทุนด้วยกันทำเสื้อ เราไม่ได้อยากได้เงินจากคนมาก ๆ ไม่กี่คน แต่เราอยากได้เงินน้อย ๆ จากคนหลาย ๆ คน มารวมกัน ก็จะเป็นเงินก้อนใหญ่ในการที่จะขับเคลื่อน ดังนั้นจะขับเคลื่อนแค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งไม่ได้ แต่เราจะรวมกันอย่างไร เรื่องแบบนี้เขาไม่รับผิดชอบ แล้วเราไม่รวมตัวกันลุกขึ้นมา มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป อย่างที่พูดกันว่า ความมั่นคงทางอาหารเราจะไม่เหลือเลย” 

ปัญญา โตกทอง

มองการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก หลังหมดหวังรัฐจัดการปัญหา

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี บอกว่า รัฐควรจะปกป้องทรัพยากรชีวภาพ แต่ไม่ทำอะไรเลย ประชาชนต้องไปฟ้องเอง แต่ที่กลไกรัฐตอนนี้กำลังทำงานให้กับบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ทำหน้าที่แทนเอกชน

“ไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้ก็ตาม แต่สังคมไทยจะได้เห็นความจริงชุดใหญ่”

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

วิฑูรย์ ตั้งคำถามว่า ในสถานการณ์แบบนี้ ควรจะวางตัวอย่างไร เมื่อเห็นรัฐไม่ทำงาน เห็นกลไกต่าง ๆ ไม่ทำงาน คิดว่าในด้านหนึ่งว่าเมื่อเห็นกลไกพวกนี้ไม่ทำงาน ประชาชนจะได้ทำงาน เพราะสามารถทำให้กลไกพวกนั้นทำงานได้ โดยพวกเราเอง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นทั้งหลายไม่ได้มาจากข้างบน แต่เกิดขึ้นจากคนข้างล่างทั้งนั้นที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี

วิฑูรย์ ยังอธิบายถึงรากเหง้าของปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งปลาหมอคางดำเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เริ่มมาจากการพึ่งพาความหลากหลายชีวภาพ การพึ่งพาการผลิตจากเกษตรกรรายย่อย การหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ มาเปลี่ยนเป็นเกษตรกรกรรมเชิงเดี่ยวในอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้ เป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ ทั้งปลาหมอคางดำและอื่น ๆ ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

“ปลาหมอคางดำไม่ว่าจะหลุดออกไปจากการเจตนา โดยอุบัติเหตุ หรือสาเหตุประการใดก็ตาม แต่สิ่งที่เราจะเห็นคืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จะขยายกิจการครอบครองทั้งในบนบก น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มในที่สุด นั่นคือสาเหตุเบื้องหลังหรือไม่ของวิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหาร รวมถึงการระบาดของปลาหมอคางดำ”

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active