ทรุดหนัก! “หลวงพ่อดำ” วัดช่องนนทรี สมัยอยุธยาตอนปลาย ไร้กรมศิลป์ฯดูแล

พบรอยร้าวรอบองค์  ปูนใต้ฐานหลุดล่อน พระสงฆ์-ชุมชน วอนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณะด่วน หวั่นองค์พระ และอุโบสถเสียหายหนัก ไม่เหลือถึงรุ่นลูกหลาน 

วันนี้ (18 เม.ย. 2565) พระยศนันท์ กตปุญโญ วัดช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ The Active ว่าปัจจุบันพระอุโบสถที่มีรูปทรงเป็นเรือสำเภา และพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย  อายุกว่า 445 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลโดย กรมศิลปากร ทรุดโทรมอย่างหนัก พบรอยร้าวรอบองค์พระ และแผ่นปูนใต้ฐานหลุดร่อน โดยไม่มีการเข้ามาดูแล หรือบูรณะใด ๆ จากรัฐ 

“กรณีนี้ได้แจ้งไปอธิบดีกรมศิลปากรไปแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2565 หลังจากนั้นมีการสร้างนั่งร้านบริเวณพระอุโบสถ แต่ไม่ได้มีการบูรณะ มีการทวงถามไปแล้วอีกครั้ง ได้รับการตอบกลับมาว่าติดปัญหางบประมาณ”

พระยศนันท์ กตปุญโญ วัดช่องนนทรี 

 

พระลูกวัดวัดช่องนนทรี ระบุอีกว่า หลวงพ่อดำเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนวัดช่องนนทรี ชาวบ้านในละแวกนี้เป็นห่วง หากทรุดโทรมกว่านี้จะไม่เหลือลวดลายโบราณ ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดวัดอารามหลวงจึงได้รับการบูรณะอย่างรวดเร็วในขณะที่วัดบ้านทั่วไปกลับล่าช้าในการบูรณะทั้งที่มีคุณค่าไม่ต่างกัน

สำหรับวัดช่องนนทรี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับบริเวณฝั่งบางกระเจ้า  กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2520 พระอุโบสถของวัดเปิดให้เข้าชม 3 ครั้งต่อปี ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถมีครบทั้ง 4 ด้าน มีสภาพสมบูรณ์เพียง 2 ด้าน เล่าเรื่องทศชาติชาดก อดีตพุทธ และพุทธประวัติเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ยืนยันว่า เป็นงานจิตรกรรมสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การวางภาพจะคั่นเรื่องราวด้วยลายร้อยรักเป็นเส้นตั้ง และคั่นเรื่องย่อยด้วยเส้นสินเทา ส่วนใหญ่โครงเป็นสีแดง นิยมปิดทองตัวกษัตริย์ราชรถและปราสาท การเขียนภาพมีลักษณะเหนือจริงเน้นความสวยงามมากกว่าความสมจริง โดยเขียนต้นไม้บิดเบี้ยวและภูเขาตัดเส้นแบบจีน มีบางภาพเขียนแบบทัศนียวิทยาแบบตะวันตกด้วย 

ย้อนไปเมื่อปี 2558 กรมศิลปากร ได้โอนโบราณสถานให้ กทม. ดูแลรับผิดชอบจำนวนประมาณ 333 แห่ง ประกอบด้วย สะพานต่าง ๆ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รวมถึงป้อมต่างๆ อาทิ พระสุเมรุ ป้อมพระกาฬและคูคลอง อาทิ คลองผดุงกรุงเกษม คลองหลอดเป็นต้น เนื่องจากกรมศิลปากรเห็นว่าโบราณสถานดังกล่าวเป็นสิ่งที่คู่กับเมือง ซึ่งกทม.ในฐานะเมืองหลวงมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถดูแลรักษาบำรุงโบราณสถานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่วัดช่องนนทรียังอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร ปัจจุบันในพื้นที่ กทม. มีโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ 535 แห่ง เป็นโบราณสถานในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 191 แห่ง ส่วนโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนมีจำนวน 344 แห่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS