‘เรื่องของเรา’ จากงานวิจัย สู่ ภาพยนตร์ เล่าเรื่องข้ามพ้นตัวตน มองหาสันติภาพ ที่ชายแดนใต้

ฉายภาพจริงชายแดนใต้ ผ่าน 5 เส้นเรื่อง จากการลงพื้นที่ของนักวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ พูดสิ่งที่คนในพื้นที่อยากฟัง ลบภาพจำ สร้างภาพใหม่ ออกสู่สายตาคนนอกพื้นที่ พร้อมคาดหวัง เปิดโต๊ะเจรจา เดินหน้าต่อกระบวนการสันติภาพ ที่เป็นจริง  

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 68 โครงการวิจัย “การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้สู่สันติภาพด้วยกระบวนทัศน์การเล่าเรื่องที่ข้ามพ้นตัวตนผ่านภาพยนตร์สั้น” เรื่องเล่าที่ข้ามพ้นตัวตน (Self-transcendental narrative) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนาวิชาการ และเปิดตัวภาพยนตร์ “เรื่องของเรา” ภาพยนตร์จากงานวิจัย สู่ สันติภาพชายแดนใต้

โดยข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ พบว่า คนในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ได้กังวลแค่ความขัดแย้ง แต่มีความกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของชีวิต เศรษฐกิจ อาชีพ อีกทั้งมีประเด็นอื่น ๆ ที่ถูกละเลย เช่น ความไม่ปลอดภัยในครอบครัว, การสร้างวาทะกรรม และภาพจำของคนบางกลุ่ม ทำให้สังคมเห็นภาพไม่รอบด้าน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อ จึงได้หยิบประเด็นนี้มาเพื่อสื่อสารผ่านภาพยนตร์ “เรื่องเล่าของเรา” 

ธีรพงศ์ เสรีสําราญ นักวิจัย และนิสิตปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีโอกาสลงพื้นที่ชายแดนใต้ เล่าว่า “เรื่องเล่าที่ข้ามพ้นตัวตน” (Self-transcendental narrative) เป็นแนวคิดที่ข้ามศาสตร์ แม้โดยหลักการเล่าจะเป็นนิเทศศาสตร์ แต่ที่จริงองค์รวมมีทั้ง มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปรัชญา หลายอย่างมารวมกัน เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ จะแก้ปัญหาโดยใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งอาจไม่พอ จึงเกิดแนวคิดแบบ Self-transcendental narrative ซึ่งทั่วโลกมีแนวทางใกล้เคียงกัน เพียงแต่อาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป 

ธีรพงศ์ เสรีสําราญ นักวิจัย และนิสิตปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“หลัก ๆ มันอยู่ที่การมองว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากตัวตนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือศาสนา ความต่างทำให้เกิดปัญหาได้ทั้งในระดับส่วนตัว สังคม โลก ในขณะเดียวกัน มันเป็นธรรมชาติมาก ๆ สิ่งนี้มันอยู่ติดตัวมนุษย์มา ในขณะที่เรามองมันเป็นปัญหา แต่ปัญหานี่แหละที่ทำให้เราเรียนรู้วิธีอยู่ด้วยกันได้ดีขึ้น เลยมี 2 คำ คือ คำว่า Self กับ transcendental ตัวตน กับ คำว่า ข้าม ในมิตินี้ใช้ในความหมายที่ว่าตัวตนยังมีอยู่ เราไม่สามารถลบมันได้ แต่เราต้องข้ามมัน ข้ามในที่นี้ไม่ใช่การเพิกเฉย แต่ข้ามไปดูคนอื่นว่า ตัวตนคนอื่นเป็นอย่างไร สิ่งที่พบหลังจากการข้ามคือ ความเป็นมนุษย์ สุดท้ายจะกลับมาที่ความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเราจะต่างกันแค่ไหน แต่เรามีความปราถนา หิว สุข ทุกข์ เหมือนกัน ต่างกันแค่รายละเอียด เพราฉะนั้นกรอบแนวคิดนี้คือการดึกเรากลับไปล่างที่สุดคือความเป็นมนุษย์” 

ธีรพงศ์ เสรีสําราญ

ทั้งยังมองว่า ภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปลอดภัย ที่ทำให้คนได้พูดในสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ขณะที่แนวทางสันติภาพ ในมุมมองของ ธีรพงศ์ ก็ยังเชื่อว่า การเล่าเรื่องหรือการพูดคุยแต่ละระดับ สามารถที่จะมีศักยภาพในการแก้ปัญหาไม่มากก็น้อย

“อย่างโต๊ะสนทนา ผมก็เชื่อว่ามันทำได้ แต่ต้องถามว่าเกมบนโต๊ะ หรือบรรยากาศของพื้นที่มันเป็นอย่างไร คุยเพื่อข้ามตัวตนไหม หรือคุยเพื่อตอกย้ำตัวตน ถ้าอย่างนั้นมันไม่น่าจะแก้ได้ แต่ถ้าคุยเพื่อข้าม เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะข้ามกันได้ ก็จะสามารถทำได้” 

ธีรพงศ์ เสรีสําราญ

ขณะที่ ผศ.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในภาพของคนนอกเห็นภาพความรุนแรงมาตลอด ได้แค่ตั้งคำถามว่าทำไม และความไม่เข้าใจก็กลายเป็นความกลัว แต่ในภาพของคนนอกอย่างหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ ความสงบ ถ้ามองในการเจรจาสันติภาพ คงต้องไปดูที่เป้าหมายของการคุยว่าต้องการอะไร พร้อมย้ำในฐานะคนนอกพื้นที่ สิ่งที่อยากเห็นที่สุด คือ อยากให้พื้นที่เกิดความสงบและอยู่กันอย่างปลอดภัย

ผศ.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พูดในสิ่งที่คนข้างในอยากจะฟังอันนี้สำคัญที่สุด แต่ก่อนจะสื่อสารมันควรตั้งโจทย์ว่าเราจะคุยกับใคร อย่างหนังที่เราทำคนที่ดูคนแรก คือ คนในพื้นที่ เราอยากให้เขาเห็นว่ามีคนที่เข้าใจเขา แต่แม้เรามีเป้าหมายอยากให้เกิดความสงบ สุดท้ายวิธีการก็ต้องกลับไปให้เกียรติคนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ สิ่งที่ควรพูด และฟังคือเสียงของคนในพื้นที่ เราอยากให้มันเป็นพลังขับเคลื่อนให้คนนึกถึงก่อน ให้รู้ว่ามี แล้วค่อยมาตกผลึกเอง การทำงานของหนังมันไม่ใช่ว่าเห็นปุ๊บรู้ปั๊บ แต่มันต้องใช้เวลาตกผลึก การตกผลึกของคนดูหวังให้เกิดความเข้าใจ แล้วสุดท้ายออกมาเป็นพฤติกรรมการกระทำบางอย่าง”

ผศ.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์

งานวิจัย-หนัง-สันติภาพชายแดนใต้
เปลี่ยนภาพจำ สร้างภาพใหม่

สำหรับ ภาพยนตร์ “เรื่องของเรา” จัดทําเป็นบทภาพยนตร์แนว Omnibus Film ที่รวบรวมและร้อยเรียงเรื่องสั้นที่แตกต่างกันไว้ในเรื่องเดียว ภายใต้แนวคิดหรือแก่นเรื่องเดียวกัน จนกลายเป็นภาพยนตร์จากงานวิจัยสู่สันติภาพชายแดนใต้ “เรื่องของเรา” ซึ่งประกอบด้วย 5 เรื่องย่อยที่ถักทอร้อยเรียงเป็นผืนผ้าแห่งเรื่องราว

ไล่ระดับเรื่องเล่าจากมุมมองภายในตัวบุคคล มาสู่มุมมองความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึงความสัมพันธ์กับคนนอกพื้นที่ และจบลงที่การถอยออกมามองกระบวนการสร้างเรื่องเล่าเพื่อสันติภาพ 

เรื่องที่ 1 : “16 ปี แห่งความหลัง”

“บาดแผล ความเจ็บปวด และความงดงามของการมีชีวิต”

ผลกระทบของการสูญเสียและการเยียวยาจิตใจ สํารวจประเด็นความเศร้าโศก การจัดการกับความทรงจํา และการใช้ชีวิตต่อไปหลังโศกนาฏกรรม ภาพยนตร์สะท้อนความเจ็บปวด ที่ซ่อนอยู่ภายในของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง

เรื่องที่ 2 : “โรงเรียน”

“การศึกษาเป็นกุญแจสําคัญในการแก้ปัญหาในชีวิตและสังคม”ครูอารีฟ ตัวละครในเรื่องนี้มีความเชื่อในพลังของการศึกษาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตของนักเรียนและชุมชน การศึกษาเปรียบเสมือนเส้นทางสู่การปรองดองและความก้าวหน้าของสังคม

เรื่องที่ 3 : “ปรัชญาโชเล่”

“มิตรภาพบนความแตกต่าง : การเผชิญหน้าและข้ามผ่านปIญหาด้วยมุมมองเชิงบวกและความเข้าใจในความแตกต่าง” สะท้อนปัญหาความขัดแย้งที่รายล้อมคนในพื้นที่จากหลากมิติ โดยเรื่องนี้ชี้ให้เห็นการเผชิญหน้า และการข้ามผ่านปัญหาด้วยมุมมองเชิงบวก รวมทั้งความเข้าใจในความแตกต่าง สะท้อนประเด็นของมิตรภาพบนความแตกต่าง และความสัมพันธ์ของประชาชนกับเจ้าหน้าที่

เรื่องที่ 4 : “พื้นที่สีแดง”

เบื้องหลังคำว่า พื้นที่สีแดง สะท้อนมุมมองที่คนนอกมีต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เป็นพื้นที่อันตรายซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ผ่านกรอบการนำเสนอของสื่อ ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงพลังในการกำหนดการรับรู้ และการเปลี่ยนมุมมองของสื่อรวมถึงสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนใน และคนนอกพื้นที่ อีกทั้งยังรวมถึงบทบาทของสื่อในการสร้างการรับรู้ต่อปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เรื่องที่ 5 : “เรื่องของเรา”

“ดาบสองคม – เล่าเกิดป็ญหาหรือเล่าเกิดมุมมอง”

การวิพากษ์กระบวนการสร้างเรื่องเล่าซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดทั้งปัญหา และมุมมองในการแก้ไขปัญหา ผ่านการนำเสนอแนวคิดว่า การข้ามพ้นมุมมองของตนเอง และเชื่อมโยงกับมุมมองของผู้อื่น จะช่วยให้มองเห็นปัญหา และหนทางแก้ไขได้อย่างลึกซึ้ง

ติดตามรับชมภาพยนตร์ “เรื่องของเรา” ได้ ที่นี่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active