แม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดไชยวัฒนาราม สูงกว่าตลิ่งเกือบ 2 เมตร แต่แนวบังเกอร์ยังรับได้อีก 60 ซม. ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามั่นใจรับมือได้ มีบทเรียนน้ำท่วมปี 2554 วางแผนรับมือปิดจุดเสี่ยงพื้นที่ต่ำ
วันที่ 9 ต.ค.2565 ภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อโบราณสถานในอุทยานฯว่า จากการสำรวจล่าสุดพบโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมเป็นวัดรวม 65 แห่งส่วนใหญ่อยู่นอกเกาะเมือง ทั้งนี้ภาพรวมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานราว 400 แห่งโดยกว่า 200 แห่งอยู่ในเกาะเมือง
สำหรับวัดไชยวัฒนารามเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่า ที่กรมศิลปากรพยายามปกป้องเอาไว้ให้ได้มากที่สุด และเนื่องจากเป็นโบราณสถานที่อยู่ริมแม่น้ำหากปล่อยให้น้ำท่วม กระแสน้ำจะไหลผ่านแรง จนอาจกระทบต่อโครงสร้างองค์พระปรางค์ และเจดีย์ จึงได้สร้างแนวบังเกอร์น็อคดาวน์พับเก็บได้มาตั้งแต่ปี 2552 แต่เมื่อถึงปี 2554 ระดับน้ำท่วมสูงเกินระดับแนวบังเกอร์ที่สร้างไว้ จึงมีการต่อเติม มาในปี 2565 หากปริมาณน้ำเท่าปี 2554 ก็เชื่อว่าจะสามารถป้องกันเอาไว้ได้
“โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดไชยวัฒนาราม ขณะนี้มีความสูงกว่าตลิ่งเกือบ 2 เมตร แต่แนวบังเกอร์ยังสามารถรองรับระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 60 เซนติเมตร แต่จุดที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือบริเวณกำแพงวัดด้านซ้าย ซึ่งระดับน้ำเสมอตัวกำแพงแล้ว และต้องเสริมแนวกระสอบทรายกั้น”
ส่วนในเกาะเมือง ซึ่งมีโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์จำนวนมากและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมรดกโลก ทางเทศบาลและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กองทัพ ร่วมมือกันอย่างดีในการสร้างคันกั้นน้ำรอบเกาะเมืองเชื่อว่าถ้าปริมาณน้ำมาเท่าปี 2554 การป้องกันรอบเกาะเมืองน่าจะเอาอยู่ เพราะได้มีการถอดบทเรียนในหลายอย่างที่เป็นข้อบกพร่องจากการรับมือกับน้ำท่วมในอดีต ที่ปัจจุบันได้ถูกเอามาแก้ไข เช่น ทำแผนที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงพื้นที่ต่ำ และเมื่อก่อนอาจจะไม่ได้มีการเสริมกระสอบทราย หรือใช้แผ่นพลาสติกปูบริเวณคันกั้นน้ำที่เป็นดินจนน้ำซึมเซาะคันดินจนพัง ก็มีการปิดจุดอ่อนที่เคยเป็นมาในอดีต
อย่างไรก็ตาม บริเวณท้ายพระราชวังโบราณที่ถูกน้ำท่วมนั้น เนื่องจากถนนช่วงนั้น น้ำจากแม่น้ำลพบุรีสามารถซึมผ่านได้ เพราะเป็นถนนเก่าที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเอาอิฐหักกากปูนจากการขุดแต่งพระราชวังโบราณ มาถม เพราะฉะนั้นถนนช่วงนี้ก็จะไม่แน่นเหมือนถนนอู่ทองรอบเกาะเมืองช่วงอื่น ที่ใช้รากฐานของกำแพงเมืองมาทำถนนและทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำรอบเกาะเมือง
“เราก็ได้มีการวิเคราะห์กันแล้วว่าถ้าเรามีการสูบน้ำออกจากพระราชวังโบราณสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือน้ำจากแม่น้ำลพบุรีที่อยู่ติดกันก็จะไหลเข้ามา ทุกครั้งที่น้ำซึมเข้ามาบ่อยๆ ถนนอาจจะทรุดเสียหายและน้ำจะเข้าท่วมเกาะเมืองได้”
ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมขัง มีการเสริมความมั่นคงเอาไว้แล้วโอกาสที่จะพังทลายน้อย แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็อาจจะมีบ้างแต่จะเป็นความเสียหายในเชิงของวัสดุก่อสร้าง อิฐที่แช่น้ำแล้วเปื่อยยุ่ยซึ่งความเสียหายลักษณะนี้สามารถแก้ไขได้