อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปเพียงแค่ 1 องศา จะนำมาซึ่งภัยพิบัติรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า การออกแบบนโยบายของนักการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลอาจต้องคิดต่อ เพราะนี่คือส่วนแรกที่จะสร้างแรงกระเพื่อมได้ทั้งสังคม
ตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติ ต่างๆ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และฝุ่นควัน ที่บางส่วนมาจากผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน ไม่ต่างจากนานาประเทศ แต่หากมองย้อนกลับในเชิงนโยบายในการปัญหาของไทยในทางปฎิบัติอาจยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก
การควบคุมไม่ให้อุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเริ่มเป็นเรื่องยาก เพราะที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่นานาประเทศกังวลใจไม่น้อย เพราะขณะนี้หลายประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ในชั้นบรรยากาศมากกว่าปกติ ส่งผลให้ความสมดุลของพลังงานเปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ประเทศไทยก็มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (LT-LEDS) ซึ่ง Action Plan ให้แต่ละภาคส่วน ทั้ง พลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย เกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 ภายในปี 2030
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา มลภาวะทางอากาศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในฐานะที่เคยอยู่กระทรวงคมนาคม การลงลึกเรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องใช้เวลา หากจะเปลี่ยนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะต้องใช้เวลา ไทยเองก็มีการสร้างรถไฟฟ้ามากมายรวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กระจายออกสู่เมืองหลัก ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ก็คือส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้ในอนาคต แต่อาจต้องใช้ความอดทนเพราะต้องใช้เวลากว่าจะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันการผลักดันให้มีการใช้รถ EV หรือรถไฟฟ้าเพื่อแทนรถยนต์ในการสันดาปก็จะเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
“โลกของเรามันไม่ได้มีสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคิดทั้งระบบ เช่นเรื่องของตลาดเงิน เรื่องของอาชญากรรมไซเบอร์ ปัญหาภัยพิบัติ อย่างภัยแล้ง น้ำท่วม ที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กทม.เองก็เจอปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายที่บางครั้งท่วมถนนนานเกิดไปก็กระทบถนนอาจต้องคิดต่อ ว่าการออกแบบในเชิงนโยบายหลายภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ในเวทีโลกก็มีการพูดถึงปัญหาโลกร้อนมากขึ้นร่วมถึงการสร้างความร่วมมือกับทุกประเทศในการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งไทยเองก็ต้องเดินตามแผนไปพร้อมกับปารปรับตัว เพราะอนาคตลูกหลานของเรายังคงต้องอยู่”
ขณะที่การมองฉากทัศน์อนาคตของไทยต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน ผมคิดว่าเราต้องทำให้ครบทุกภาคส่วน โดยแบ่งเป็น 3 ภาคส่วน คือภาครัฐ แบ่งเป็น 2 ขา คือขาแรกคือข้าราชการประจำที่ต้องมีหน้าที่ในการทำตามนโยบายทำตามตัวบทกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่แล้วก็ต้องใส่ใจกับปัญหาของสังคมอย่างจริงจังทำตามบลบาทที่ช่วยเหลือแระชาชนให้ได้มากที่สุด ขาที่สองคือ ฝ่ายการเมืองถือว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดเพราะเขาจะเป็นคนที่นับหนึ่ง ในการเริ่มต้นที่ชงมาจากนโยบาย ฝ่ายราชการจะเป็นคนที่นับฃสอง ต่อเนื่อง ถ้าคนที่นับหนึ่ง คือคนที่นับดัง ๆ เพราะคนที่นับ ต่อ สอง สาม สี่ ก็จะผสานร่วมมือเป็นทอดๆ ที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จในการแก้ปัญหาได้
“ผมอยากให้นโยบายการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องใส่ใจและเป็นหัวข้อข้อหนึ่งที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญไม่อยากให้เขียนแค่ตัวหนังสือว่าเป็นแค่นโยบายในการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ต้องสามารถนำไปปฎิบัติได้ เพราะคนที่รับไม้ต่อ ไม้ต่อที่ สอง ที่สาม ที่สี่ จะขับเคลื่อนต่อ และต้องเป็นนโยบายที่ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรมจริง ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้ หากจริงจัง”
ภาคส่วนที่ 2 คือภาคเอกชนของไทยถือว่ามีบทบาทเยอะ อย่างในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็พร้อมรับช่วงต่อ ถ้าภาครัฐมีนโยบายที่เข้มแข็ง และชัดเจนผมเชื่อว่าภาคเอกชนเขากล้าขยับได้ ไม่อยากให้ 4 ปีที่พรรคการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาลมาแล้ว ต้องเปลี่ยนไปตามพรรคการเมืองแต่ละพรรค อยากให้เรื่อง “Climate Change” ต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกรัฐบาลต้องใส่ใจและทำอย่างต่อเนื่อง
ภาคส่วนที่ 3 คือภาคประชาชน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประชาชนต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นภัยใกล้ตัวเรานี่เป็นส่วนสำคัญที่ต้องให้เรื่องนี้สำเร็จได้ เช่น ถ้านโยบายดี แต่เอกชน ประชาชน ไม่ทำตามไม่เดินหน้า ก็ไม่สำเร็จ เช่น ถ้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขาย แต่ประชาชนไม่ซื้อใช้เลยมันคือจุดบกพร่อง 3 ภาคส่วนต้องรวมมือรวมใจกันอย่างเต็มที่ ถึงจะไปได้
รศ.จีมา ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ช่วยคณะบดีฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืนและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว่า “Climate Change” ส่งผลมาจากภาวะโลกร้อนขึ้น โดยแก๊สที่มีการเผาไหม้เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานมี 3 ตัวหลัก ๆ คือ
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นก๊าซที่อยู่รอบตัวเรา เกิดขึ้นในบรรยากาศตามธรรมชาติ และเกิดจากการหายใจของพืชและสัตว์ นอกจากนี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่การเผาไหม้เชื้อเพลิง การขับเคลื่อนรถยนต์ และเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเกษตรสมัยใหม่ อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก็จะอยู่ได้เป็น ร้อย ๆ ปีมันไม่หมดไปสะสมไปเรื่อย ๆ บางครั้งก็จะสมให้โลกขาดสมดุล เกิดฝนกรด หรือแม่แต่การปนเปื้อนอยู่ในน้ำ
ก๊าซมีเทน ที่เกิดจากธรรมชาติเกิดขึ้นได้ในลักษณะต่าง ๆ เช่น วัว ควายกินหญ้าและพืชต่าง ๆ เข้าไปจะถูกจุลินทรีย์
ย่อยสลายในระบบการย่อยอาหาร ทำให้เกิดก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ก๊าซมีเทนยังเกิดจากจุลินทรีย์ที่อาศัย
อยู่ในดินที่มีน้ำขัง โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เกิดจากการทับถมกัน สำหรับก๊าซมีเทนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ จะพบว่าเมื่อมนุษย์ทิ้งขยะเป็นปริมาณมากหรือมีการเผาป่าดิบและทุ่งหญ้าจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน
ก๊าซไนตรัสออกไซด์ เช่น การเผาไหม้ของแร่เชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหิน ไอเสียรถยนต์ ปุ๋ยไนโตรเจนเมื่อลงดินจะสลายตัว แล้วจะปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกมา
ปัญหาความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศ มันกระทบไปหมด ยกตัวอย่างเช่น พลังงาน 80 เปอร์เซ็นต์มาจากพลังงานของฟอสซิล หมายความว่า เรายังเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ซึ่งเราต้องปรับตัว มองภาพง่าย ๆ แบบนี้ หากเรามองว่าคนขายหมูปิ้งปล่อยฝุ่นควัน แต่เขาก็รอคำตอบว่าเขาต้องปรับตัวอย่างไร ซึ่งที่จริงแล้วมันมีเตาไร้ควันแต่เชื่อมโยงอย่างไรให้จุดร่วมนี้มันเกิดจุดเปลี่ยนที่ร่วมือกัน เพราะถ้าพูดง่ายๆ คนงาน คนใช้แรงงาน หรือพนักงานต่างๆ เช้ามาเขาก็ต้องหาอาหาร หมูปิ้งก็คือหนึ่งในนั้น แต่ไม่ใช้ว่าห้ามแต่จะดีกว่าไหมถ้าหันมาใช้เทคโนโลยี
“มันคือโจทย์ที่ต้องร่วมหาทางออก รัฐบาลออกนโยบายเลย หน้าที่ใครต้องทำอะไรบ้างเพราะทุกฟันเฟืองเล็ก ๆ ขยับ มันก็จะทำให้นโยบายใหม่ขยับไปด้วย อีกประเด็นคือเราถามตัวเองว่าเราแยกขยะหรือยัง เพราะวันนี้คนไทยเองยังแกขยะน้อย แต่จะดีกว่าไหมถ้าหน่วยเล็ก ๆ เริ่มทำนโยบายขยับร่วมก็จะเชื่อมโยงให้เกิดความชัดเจน อย่างที่สวีเดน วันนี้บ้านเขาไม่มีขยะแล้วเพราะเขาเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน จนเขาต้องประกาศขอขยะจากประเทศเพื่อนบ้านนี่เป็นตัวอย่างที่มีการจัดการที่ดี”
ขณะที่ข้อเสนอเชิงนโยบายของการจัดการของเสียอย่างขยะก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนภาพได้ดี จากสามเหลี่ยมหัวกลับพบว่า ไทยเอง จะเน้นไปที่การกำจัดขยะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว จากลำดับของการจัดการของเสีย (Waste Management Hierarchy) เราต้องลดที่แหล่งกำเนิด หรือตัวของคนทุกคน ซึ่งไม่ว่าจะเป็น เจ้าของ องค์กร เจ้าของอุสาหกรรม ก็ต้องเป็นโจทย์ให้ตัวเองแล้วว่าเราจะลดที่แหล่งกำเนิดที่เราได้อย่างไร เราจะใช้น้ำน้อยลงได้อย่างไร เราจะใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงได้อย่างไร แล้วเราก็ต้องไปตามลำดับ ซึ่งตอนนี้เราไปเอาลำดับสุดท้ายก็คือการกำจัดมาเป็นสิ่งสุดท้ายในการกำจัดของเสียซึ่งไม่ใช้อันนี้
ดังนั้น การหันกลับมาเริ่มทำการลดที่แหล่งกำเนิด การทำหลายวิธีที่จะให้ของไม่เป็นขยะ ให้ขยะเป็นพลังงาน และกำจัดอันดับสุดท้าย คือนโยบายที่ควรขับเคลื่อน เวลานี้เรารอไม่ได้เพราะอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นทุกวันอาจจะไม่ไหว การที่เรามีกฎหมายคือสิ่งจำเป็นที่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง
อีกด้านหนึ่งที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย คือการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ที่ต้องทำทุกส่วนให้สอดคล้องกัน อย่างการทำแล้วต้องมีกำไร ใช้ทรัพยากรน้อย ลดมลพิษ สิ่งที่ผลิตก็ต้องได้รับการตอบรับ สังคมชอบในสิ่งที่เราผลิต
ดร.กาจวิศว์ กล้าหาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ กล่าวว่า ไทยเผชิญปัญหาโลกร้อนขึ้นมาโดยตลอด การขึ้นของอุณหภูมิโลกจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทุกด้าน หากเปรียบเทียบ อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสเราก็ป่วยได้ ในทางกลับกันสิ่งที่ต้องเร่งทำให้ดีที่สุดคือ การปรับตัวรับมือไปพร้อมกับการช่วยกันออกแบบนโยบายให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ
เช่นปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่ต้องแก้ปัญหากันทุกปี หากมีการบริหารจัดการไปพร้อมกับข้อมูลที่มากพอความแม่นยำต่อการเตือนภัยจะดีขึ้นเพราะต่อจากนี้เราจะเจอปัญหาภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นทุกเมื่อ จาก 5 ตัวชี้วัด สภาวะโลกร้อน ก็สังเกตไม่ยาก อย่างเช่น ความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น อุณหภูมิทั้งโลกสูงขึ้น น้ำแข็งทะเลอาร์คติคละลายแผ่นน้ำแข็งลดขนาดลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
ขณะที่ปรากฏการณ์ลานีญ่า (La Nina) และเอลนิโญ จากเดิมเคยเกิดไม่บ่อยแต่ปัจจุบันอากาศแปรปรวนส่งผลให้ 2 ปรากฏการณ์นี้เกิดถี่ขึ้น บ่อยขึ้น เช่นในไทย เกิดน้ำท่วมหนักถี่ขึ้น หรือภัยแล้งถี่ขึ้น
ซึ่งในวันที่ 11 มีนาคม 2566 สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร จะมีจัดงาน Dongtan Engineer Forum 2023 ครั้งที่ 3 ในหัวข้อเรื่อง Climate Change:The Next Crisis (Time to make sustainability into action) “พลิกวิกฤตมหันตภัยโลกร้อน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากโลกและประเทศไทยเริ่มก้าวสู่มหันตภัยวิกฤตภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากความแปรปรวนของธรรมชาติ เป็นอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศน์ ซึ่งต้องลงมือกระทำแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งวิกฤตโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัว สาธารณชนจึงต้องตระหนักรู้และเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากความไม่สมดุลของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อด้านพลังงาน เทคโนโลยี ลามไปถีงเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้กิจกรรมการดำเนินทุกอย่างของชีวิตต้องสุ่มเสี่ยงจนถึงหยุดชะงักในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้หรือเติบโตชัากว่าที่คาดหวัง
ดังนั้นหากสังคมได้รับทราบแนวนโยบายจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีมาตรการแก้ไขปัญหาชัดเจน การรุกคืบอย่างทันท่วงทีและเป็นรูปธรรม จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นและจุดประกายแนวความคิดในการนำพามนุษยชาติ องค์กรทุกประเทศและโลกให้กลับมาเดิบโตได้อย่างยั่งยืน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
Active Talk Podcast EP.162 | วิกฤตโลกร้อนสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย