นักวิชาการด้านภัยพิบัติ ชี้ แค่ระลอกแรก ฝนเริ่มช้า แต่ตกหนักสะสมมากกว่าเหตุการณ์ที่เชียงราย คาดอาจยืดเยื้อถึงธันวาคม เตือน ลานีญาทำพิษ ชี้ระบบรับมือไทยยังล่าช้า
ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จ.นราธิวาส, ปัตตานี และ ยะลา จะยืดเยื้อถึงวันที่ 4 ธ.ค. 67 ก่อนฝนลดลงชั่วคราว และเพิ่มขึ้นอีกในวันที่ 9 ธ.ค. 67
ขณะเดียวกันตลอดทั้งช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่กำลังเจอกับมวลน้ำมหาศาล ไหลเอ่อล้นลำน้ำสายสำคัญ ๆ เข้าท่วมแทบทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึง จ.สงขลา ส่งผลให้แทบทุกจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน ในขณะที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ประกาศยกระดับการแจ้งเตือน “ธงแดง” ทั่วทั้งเขตเมือง ให้ประชาชนอพยพไปยังที่ปลอดภัยด่วน
วิกฤตน้ำท่วมใต้แค่ระลอกแรก
สถานการณ์ความน่ากังวลของน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเวลานี้ ศิรินันต์ สุวรรณโมลี นักวิชาการอิสระด้านการจัดการภัยพิบัติ ร่วมวิเคราะห์ในรายการ Flash Talk โดยระบุว่า ภาคใต้กำลังเผชิญฝนตกหนักจากหย่อมความกดอากาศต่ำและการปะทะของมวลอากาศที่แปรปรวน อันเนื่องจาก ปรากฏการณ์ลานีญา และภาวะโลกรวน โดยฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบนี้วัดได้ถึง 533 มม. ใน 24 ชั่วโมงที่ จ.นราธิวาส ซึ่งสูงกว่าปริมาณฝนที่เคยตกหนักสุดใน จ.เชียงราย เมื่อช่วงที่ผ่านมา (350 มม.) พร้อมทั้งยอมรับว่า นี่ถือเป็น ระลอกแรก ของสถานการณ์น้ำท่วม ที่คาดว่าจะยืดเยื้อไปจนถึงเดือนธันวาคม
“สิ่งที่เรากังวลคือ ฝนระลอกนี้เริ่มต้นช้า และอาจลากยาวไปถึงธันวาคม การก่อตัวของพายุและร่องฝนยังไม่แน่นอน ทำให้การรับมือยากขึ้น”
ศิรินันต์ สุวรรณโมลี
ศิรินันต์ ระบุอีกว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ได้แก่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอีกหลายพื้นที่ในภาคใต้ เช่น จ.พัทลุง, ตรัง, สงขลา และนครศรีธรรมราช โดยน้ำฝนสะสมจากพื้นที่ภูเขาอย่างเทือกเขาบรรทัด และสันกะลาคีรี ไหลเข้าสู่ที่ราบ และชุมชน ขณะที่ข้อมูลจำลองสถานการณ์จำเป็นอย่างมาก เพื่อคาดการณ์จุดที่น้ำท่วมสูง และแผนการอพยพคนให้ปลอดภัย พร้อมเสนอให้ภาครัฐเร่งจัดทำแผนรับมือล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับการซ้อมแผนเผชิญเหตุในระดับชุมชน
“แม้ว่าฝนจะเริ่มเบาบางลงในบางวัน แต่การสะสมของน้ำฝน และน้ำป่าที่ไหลมาจากเขาจะทำให้การระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทำได้ยาก นอกจากนี้ พื้นที่เสี่ยงภัย เช่น บริเวณเทือกเขาบรรทัด และสันกาลาคีรี ยังคงถูกมองข้าม แม้ว่าจะมีความสำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสน้ำที่ไหลลงชุมชน พื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำสะสมจะกลายเป็นจุดวิกฤตสำคัญ ซึ่งข้อมูลจำลองภัยพิบัติสามารถช่วยคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ปัญหาคือข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ในการวางแผนรับมือ”
ศิรินันต์ สุวรรณโมลี
ส่องข้อจำกัดจัดการภัยพิบัติ
นักวิชาการด้านภัยพิบัติ ยังเชื่อว่า ปัญหาหลักที่พบในทุกภัยพิบัติของประเทศไทย คือ การขาดงบประมาณ การขาดความมั่นใจในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ และ การขาดการซักซ้อมในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งยังขาดการสื่อสารและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย แม้จะมีข้อมูลจำลองสภาพอากาศและแผนที่เสี่ยงภัยจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น Google Earth หรือระบบ Meteorological Earth แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในระดับท้องถิ่นอย่างจริงจัง
“ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ ประเทศไทยยังไม่มีระบบที่แข็งแกร่งพอในการจัดการภัยพิบัติแบบบูรณาการ เราไม่สามารถป้องกันฝนตกหนักได้ แต่เราป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียรุนแรงได้ ถ้ามีแผนและการบริหารจัดการที่ดี”
ศิรินันต์ สุวรรณโมลี
บทเรียนน้ำท่วมเชียงราย สู่บทบาทชุมชนจัดการ รับมือภัยพิบัติ
ศิรินันต์ ยังกล่าวถึง บทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เชียงรายช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชุมชนในพื้นที่ที่มีการเตรียมพร้อมจากวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น การรวมตัวในวัดในช่วงวันศีล ซึ่งกลายเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวโดยธรรมชาติ นี่แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมชุมชนสามารถนำมาปรับใช้กับแผนการจัดการภัยพิบัติได้
อย่างไรก็ตาม รัฐควรออกแบบจุดอพยพในพื้นที่น้ำท่วมควรเป็นสถานที่ที่คนเข้าถึงได้ง่าย เช่น วัด หรือ มัสยิดในชุมชน และการย้ายผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย ต้องมีความชัดเจน สื่อสารให้เข้าใจง่าย และสถานที่ควรใกล้ชุมชน ไม่ใช่ย้ายไกลจนชาวบ้านไม่อยากไป
นักวิชาการด้านภัยพิบัติ ยังอยากเห็นในอนาคต รัฐไทยจำเป็นต้องสร้างระบบเตือนภัยที่เข้าใจง่ายสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพียงแค่การส่งตัวเลขปริมาณน้ำหรือระดับน้ำผ่านสื่อออนไลน์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ตีความตัวเลขข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่หน่วยงานรัฐต้องมีหน้าที่สื่อสารและแปลความเพื่อรับมือภัยพิบัติด้วยความมั่นใจ และควรออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น การกำหนดศูนย์พักพิงที่ใกล้ที่สุดและการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง
ข้อเสนอแผนรองรับภัยพิบัติ
โดย ศิรินันต์ เสนอให้รัฐบาลพัฒนาแผนปฏิบัติการรองรับภัยพิบัติใน 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับเล็ก: การช่วยเหลือภายในชุมชน เช่น การจัดตั้งเครือข่ายผู้ช่วยเหลือในชุมชน
- ระดับกลาง: การพัฒนาศูนย์พักพิงที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอและเข้าถึงง่าย
- ระดับใหญ่: การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อคาดการณ์และป้องกันภัยในระยะยาว
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องแก้ไขในระยะยาว คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งความลังเลในการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐเป็นปัญหาหลัก เมื่อขาดความกล้าที่จะสื่อสารภาพรวมของความเสียหาย หรือแนวโน้มของภัยพิบัติ ประชาชนก็ไม่สามารถเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ประเทศไทยควรลงทุนในเทคโนโลยีและการศึกษาด้านภัยพิบัติ เพื่อให้ทุกคนตั้งแต่ระดับนักเรียน เยาวชน จนถึงประชาชนทั่วไปเข้าใจและสามารถอ่านข้อมูลภัยพิบัติได้อย่างถูกต้อง
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้ สะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย ทั้งในด้านการสื่อสาร การวางแผนเชิงรุก และการมีส่วนร่วมของชุมชน หากสามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะเหล่านี้ได้ ความเสียหายจากภัยพิบัติในอนาคตอาจลดลง และประเทศไทยจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาครัฐและชุมชนต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยไม่ปล่อยให้การรับมือเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า