หมดยุคโลกร้อน! UN เตือน เข้าสู่ยุคโลกเดือด “Global Boiling”

‘นักวิชาการ’ ชี้ ไทยควรเตรียมรับมือ ปี 68 พบวิกฤตแล้งหนักที่สุด โดยเฉพาะภาคการเกษตร ‘คณะทำงานฯ ด้านภัยแล้ง’ ระบุ 6 ความจำเป็นรัฐต้องรับมือ

28 ก.ค. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนโลกเตรียมรับมือร้อนที่สุดในประวัติการณ์หลังนักวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า กรกฎาคม เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี สอดคล้องกับ เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เตือนรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิพุ่งทะยาน พร้อมระบุ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เช่นเดียวกับการรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเช่นกัน อุณหภูมิในเดือนกรกฎาคมร้อนทำลายสถิติ แสดงให้เห็นว่า โลกได้ผ่านจากช่วงโลกร้อนไปสู่ “ยุคที่โลกเดือด”

การออกมาเตือนครั้งนี้มีขึ้น หลังจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปได้เผชิญกับคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม ทำให้สภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จนเกิดไฟป่าในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่กรีซ ประสบสถานการณ์ไฟป่ารุนแรง

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ มันน่ากลัวมาก และมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว ยุคที่โลกเดือดมาถึงแล้ว”

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส

“โลกเดือด” ย้อนมองทางรอด เอลนีโญ กระทบไทย

จากข้อมูลพบว่า โลกเผชิญกับปัญหาเอลนีโญ มาแล้ว 5 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงปี 2515 และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2568 ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน และอาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์โยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระบุ อากาศของประเทศไทยผันผวนอยู่ตลอดเวลา การเตรียมตัวรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอีก 5 ปีข้างหน้าไทยจะพบเจอกับความผันผวนที่สูงขึ้น แต่ละปีมีความผันผวนของฝนและอ่างเก็บน้ำนับตั้งแต่ปี 2566-2570 ฝนทิ้งช่วงและมีปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2568 จะพบกับวิกฤตที่แล้งหนักที่สุด มากกว่าปี 2558

จึงมีข้อเสนอให้ประชาชนรับมือ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องปรับตัวเตรียมขุดบ่อเก็บกักน้ำ, ปรับลดการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะในปี 2568 จะเหลือปริมาณน้ำใช้รวม 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ อยู่ที่ 60%

คณะทำงานแก้ปัญหาเอลนีโญ แนะรัฐบาลป้องกัน! ก่อนประชาชนเจอร้อนแล้งถึงจุดพีคต้นปีหน้า

ล่าสุด เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ในฐานะคณะทำงาน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ด้านภัยแล้ง เอลนีโญ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Decharut Sukkumnoed เรื่องความจำเป็นเร่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อรับมือ “เอลนีโญ” ที่อาจจะลากยาวไปจนถึงกลางปี 2567 เพื่อให้ลดผลกระทบต่อภาคเกษตรและเศรษฐกิจลง ใน 6 ประเด็น คือ

  • เนื่องจากผลกระทบเอลนีโญนั้นเกิดไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ และในแต่ละช่วงเวลา รัฐจึงควรติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ และการพยากรณ์อากาศในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด และจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอลงไปยังพื้นที่ที่มีดัชนีความแห้งแล้งสูงโดยด่วนที่สุด
  • ในช่วง 3 เดือนจากนี้ (สิงหาคม-ตุลาคม) จะเป็นช่วงเวลาที่ฝนตกชุก (แม้จะน้อยกว่าปีปกติ) ฉะนั้นเราต้องพยายามสำรองน้ำ/กักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งในอ่างเก็บน้ำ ในแหล่งน้ำต่าง ๆ และในไร่นาของเกษตรกร โดยให้ท้องถิ่น/ชุมชนร่วมกันวางแผน และรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ และขจัดข้ออุปสรรคต่าง ๆ (โดยเฉพาะเรื่อง การไม่ให้ขุดสระในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ) แต่เรากลับเสียเวลาไปแล้วกว่า 2 เดือน (จากกลางเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม) โดยไม่ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการเพิ่มพื้นที่/แหล่งกักเก็บน้ำให้มากขึ้น จนอาจจะไม่สามารถเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำได้ทันในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
  • สำหรับน้ำเพื่อการประปา ควรให้ประปาทุกแห่ง สำรวจและวางแผนสำรองน้ำดิบ/น้ำประปาให้เพียงพอ รวมถึงหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ควรวางแผนสำรองน้ำประปา (หรือน้ำอื่น ๆ เช่น น้ำฝน) เพื่อใช้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค โดยรัฐบาลต้องช่วยเตรียมงบประมาณในการดำเนินการ
  • รัฐควรเตรียมแผนการสนับสนุนเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนพืชในช่วงฤดูแล้ง 2567 ให้ชัดเจน หากสถานการณ์ในช่วงปลายฤดูฝน (1 พฤศจิกายน 2566) พบว่า มีน้ำไม่เพียงพอในการทำนาปรัง มิฉะนั้น จะไม่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรได้ทันการณ์ โดยควรให้เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ร่วมกันกำหนดพืชที่จะปลูกให้เหมาะสมสำหรับพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยรัฐบาลควรมีกรอบงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจน (เช่น 2,000 บาท/ไร่) ทั้งนี้ เฉพาะในภาคกลางอาจมีพื้นที่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนพืชประมาณ 2-4 ล้านไร่
  • รัฐบาลต้องใช้กลไกทางการเงิน เช่น การประกันสินเชื่อ สำหรับสินเชื่อในรอบการผลิต ปี 2566-2567 เพื่อมิให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ต้องตกเป็นภาระหนี้สินเพิ่มเติม จากภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และรีบเตรียมแนวทางปรับเปลี่ยนพืช (ตามข้อ 4) เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร มิฉะนั้น จะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยไม่ลดลง แล้วอาจยังเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า
  • เมื่อกล่าวมาถึงข้อ 5 หน่วยราชการก็มักบอกว่า “ปีนี้ งบประมาณคงมาล่าช้า และดำเนินการตามข้อ 2-5 ได้ไม่ทันการณ์” ผมจึงย้ำว่า นั่นแหละครับวิธีการงบประมาณ/แก้ไขปัญหาแบบเดิม แต่ในเมื่อปัญหามันไม่เหมือนเดิม (โดยเฉพาะในแง่ขนาดของปัญหา) เราจำเป็นต้องเร่งทั้งกระบวนการงบประมาณ (เช่น ใช้งบกลาง)  กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล และกระบวนการปรึกษาหารือในสภาผู้แทนราษฎร โดยเร็วที่สุด

พร้อมทิ้งท้ายว่า …ส่วนตัวรู้สึกเสียดายมาก เพราะเรื่องเอลนีโญและเรื่อง PM2.5 คือเรื่องที่คุณพิธา มอบหมายผมโดยตรงตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ให้จัดเตรียมแนวทางดำเนินการเพื่อให้พร้อมทำงานทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่เรากลับผ่าน 2 เดือนไป โดยไม่ได้มีโอกาสทำงานนี้อย่างเต็มตัว…

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active