เตรียมชง ครม. คลอด 3 มาตรการรับมือ “เอลนีโญ”

กอนช. เตรียมเสนอแผนป้องกันความแปรปรวนสภาพอากาศ จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

วันนี้ (16 ส.ค.66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดเผยว่า จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่อง

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบพิจารณา (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมตลอดช่วงฤดูฝนเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. เพื่อทราบ และให้หน่วยงานถือปฏิบัติต่อไป เพื่อทำงานในเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ทันต่อสถานการณ์

ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

มาตรการที่ 1 จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด โดยมอบหมายให้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำกำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ

มาตรการที่ 2 ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ

มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แบ่งเป็น

1.การใช้น้ำภาคการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่ อาทิ ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

2 การประหยัดน้ำของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน สทนช. และทุกหน่วยงานภาครัฐ วางแผนลดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมประชาสัมพันธ์รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วน ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ และ

3. ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน โดยการปรับรอบเวรการส่งน้ำให้สอดรับกับปริมาณความต้องการน้ำของพื้นที่ ซึ่งจะดำเนินการในตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2566

ตั้งแต่เข้าเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา แม้จะเริ่มมีฝนตกหนักน้ำหลากมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่มักตกบริเวณตามแนวขอบประเทศบริเวณริมน้ำโขงและฝั่งตะวันตกของไทย ส่วนตอนกลางของไทยกลับฝนตกน้อย ขณะที่ผลคาดการณ์หลายหน่วยงานด้านน้ำและสภาพอากาศมองตรงกัน ปี 2566 -2568 ไทยจะเผชิญปรากฎการณ์เอลนีโญหนัก จึงเตรียมเสนอ ครม. 3 มาตรการรับมือเอลนีโญ


บุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกัน วางแผน และเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่ที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนที่ตกน้อย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ภัยแล้งจากเอลนีโญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ที่ กอนช. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67

โดยให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือถึงจะจัดสรรเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีค่อนข้างจำกัดตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์ปริมาตรน้ำและปริมาตรใช้การ (ณ วันที่ 1 พ.ย. 66) คาดการณ์ปริมาตรน้ำและปริมาตรน้ำใช้การ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั้งประเทศ ปริมาตรน้ำ 49,688 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรน้ำใช้การ 26,142 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำ ปี 2565 น้อยกว่า 9,711 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ผลคาดหมาย อุณหภูมิของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อยปริมาณฝนของประเทศไทยจะมีค่าใกล้เคียงถึงต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย ขณะที่ปรากฏการณ์เอนโซ ที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญ กำลังอ่อนมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567

โดยการคาดหมายปริมาณฝนเดือนสิงหาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนรวม ใกล้เคียง ค่าปกติ ส่วนภาคอื่นๆ จะมีปริมาณฝน ต่ำกว่า ค่าปกติ

ส่วนการคาดหมายปริมาณฝนเดือนกันยายน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนรวม ต่ำกว่า ค่าปกติ

โดยการคาดหมายปริมาณฝนเดือนตุลาคม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ
เว้นแต่ภาคตะวันออกและภาคใต้จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่า ค่าปกติ

แต่หากเทียบ ปริมาณฝนสะสมของไทยตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน พบว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 19 แม้ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จะประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่ก็เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นในช่วงฤดูฝน

แต่ท่ามกลางฤดูฝน ปีนี้ปัญหาภัยแล้ง กลับมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง เพราะจาก การที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 พบหลายพื้นที่เผชิญกับภัยแล้ง และมีการช่วยเหลือภัยแล้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นในพื้นที่ จ.นครราชสีมา อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 5 นครราชสีมา ได้สนับสนุนการสูบน้ำในพื้นที่ ได้แก่

1) บ้านดอนทะยิง ต.โนนไทย ดำเนินการสูบน้ำจากแหล่งน้ำสำรองไปแหล่งน้ำสำหรับผลิตประปา ปริมาณการสูบน้ำรวม 40,000 ลูกบาศก์เมตร

2) บ้านดอนมะยม ต.บ้านวัง สนับสนุนการสูบน้ำไปไวั ในแหล่งน้ำสำรอง ปริมาณการสูบน้ำรวม 20,000 ลูกบาศก์เมตร

3) บ้านดอนใหม่ ต.บ้านวัง สนับสนุนการสูบน้ำไปไวัในแหล่งน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ปริมาณการสูบน้ำรวม 80,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว องค์การบริหารส่วนตำบลโนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ต้องการพัฒนาลำห้วยสันเที๊ยะให้มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำมากขึ้น ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านวัง ได้ขอสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ บึงหนองน้ำใส พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ต.บ้านวัง ผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 5 นครราชสีมา อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา สนับสนุนการสูบน้ำเพื่อนำมากักเก็บไว้ในสระน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปา ในพื้นที่บ้านกุดไผ่ ต.ทัพรั้ง อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำที่สูบได้ 17,550 ลูกบาศก์เมตร และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยองค์การบริหารส่วนตำบลทัพรั้งจะทำการขอสนับสนุนโครงการระบบประปาขนาดใหญ่และการสำรวจหาพื้นที่เพื่อเจาะน้ำบาดาลต่อไป

ขณะนี้สทนช. ภาค 3 จะมีการติดตามการดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นการการสะท้อนว่า ปีนี้เอลนีโญเริ่มถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ



Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active