ห่วง ญี่ปุ่นลงทุนโครงการก๊าซฟอสซิลไทย ชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

นักวิจัย เครือข่ายพลังงานสะอาดไทย-ญี่ปุ่น เผย ไทยยังพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลเกิน 58% แม้ก๊าซในอ่าวไทยกำลังจะหมด ย้ำ ‘ปฏิรูปพลังงานสะอาด’ คือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2567 Mekong Watch องค์กร NGO ขับเคลื่อนประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในประเทศญี่ปุ่น ได้จัดเสวนาในหัวข้อ Thailand’s Power Development Plan and Issues to Consider ณ JICA Global Square กรุงโตเกียว โดยมีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม และตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนด้านพลังงานสะอาดร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสะท้อนถึงปัญหาและความท้าทายในการพัฒนาพลังงานในประเทศไทย

ญี่ปุ่นหนุนทุนพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในไทย ชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

ยูกะ คิกุจิ Executive Director แห่ง Mekong Watch อธิบายว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและพลังงานมายาวนาน โดยญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยมาตั้งแต่ปี 1967 โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือผ่านเงินกู้เยนและโครงการพัฒนาในเขตชายฝั่งตะวันออก เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและแหลมฉบัง แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงในพื้นที่

ในภาคพลังงาน ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในโครงการพัฒนาพลังงานของไทย เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหลายแห่ง ผ่านการสนับสนุนทั้งจากเงินกู้ยืมและการลงทุนโดยบริษัทเอกชน แม้ว่าประเทศไทยจะเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าในปี 1990 แต่โครงการส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยญี่ปุ่นมีส่วนเกี่ยวข้องใน 46 จาก 135 โครงการในฐานข้อมูลพลังงานโลก ญี่ปุ่นยังคงส่งเสริมเทคโนโลยีที่ยืดอายุการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การเผาแอมโมเนียร่วมในโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการเผาไฮโดรเจนร่วมในกังหันก๊าซ ซึ่งรวมอยู่ในโครงการ Asia Zero Emissions Community (AZEC) ที่เริ่มต้นในปี 2022

“หลายบริษัทญี่ปุ่นกำลังพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในไทย โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนโครงการเหล่านี้ด้วยเงินทุนจากภาครัฐ แม้ว่าสถานการณ์โลกเดือดจะทวีความรุนแรงขึ้น และโครงการเผชิญแรงกดดันให้ต้องปรับเปลี่ยน แต่กลับไม่มีวี่แววของการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนในเวลานี้เลย”

ยูกะ คิกุจิ
ขณะที่สหราชอาณาจักร ประเทศต้นกำเนิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายเมื่อปี 2024
ในปี 2023 ญี่ปุ่นกลับเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง (ในภาพคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินโยโกสุกะ จ.คานากาวะ)

ญี่ปุ่นทุ่มเงิน 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้ธุรกิจก๊าซฟอสซิล มากกว่ากองทุนพลังงานสีเขียวถึง 4 เท่า

นับตั้งแต่ปี 2559 ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนมูลค่ามหาศาลถึง 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการขยายธุรกิจก๊าซฟอสซิล ซึ่งสูงกว่ายอดเงินที่ญี่ปุ่นบริจาคให้กับกองทุนภูมิอากาศสีเขียวถึง 4 เท่า นอกจากนี้ JBIC ยังจัดสรรเงินทุนอีก 3.9 พันล้านดอลลาร์สำหรับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลหลังสิ้นปี 2565 ซึ่งถือเป็นการละเมิดพันธสัญญาของญี่ปุ่นในกลุ่ม G7 ที่ให้ยุติการสนับสนุนโดยตรงจากภาครัฐต่อโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลในต่างประเทศ

ผลกระทบที่เกิดในไทยคือโครงการท่าเรือมาบตาพุด สำหรับไว้เทียบเรือสำหรับนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าก๊าซสองแห่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก JBIC ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและทรัพยากรสำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่จนถึงขณะนี้ ชุมชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับการชดเชยใดๆ ด้วยสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นนี้ สองประเทศจึงจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนแนวทางการพัฒนาและเพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนในอนาคต

ไทยยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเกิน 58% แม้ก๊าซในอ่าวไทยกำลังจะหมดไป

ด้าน รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าคณะวิจัย CFNT ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (IPP) หลายแห่งยังไม่ได้เดินเครื่องใช้งาน แม้ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงถึง 15% ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าจริงในช่วงพีค ขณะเดียวกัน การคาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานก็ยังสูงกว่าความเป็นจริงถึง 1.5 เท่า

สัดส่วนที่มาของพลังงานไทยนั้นคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น สถิติพบว่า ในปี 2566 การผลิตไฟฟ้าของไทยยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักถึง 58% โดยมีแหล่งสำคัญจากอ่าวไทย (49.84%) การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) (37.30%) และก๊าซนำเข้าจากเมียนมา (12.78%) แม้ว่าก๊าซในประเทศจะมีบทบาทสำคัญ แต่สัดส่วนการนำเข้า LNG ที่มีราคาสูงและผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2566 ปริมาณการนำเข้าเติบโตกว่า 1,484% เมื่อเทียบกับปี 2554 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและสะท้อนในค่าไฟฟ้าของประชาชน

แผน PDP2024 และ Gas Plan 2024 ยังคงให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าก๊าซ โดยคาดว่าจะมีสัดส่วน 41% และเพิ่มการนำเข้า LNG เป็น 43% ภายในปี 2580 พร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ LNG และ FSRU รวมมูลค่ากว่า 66,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพึ่งพา LNG ในระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไทยจึงควรเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าและสร้างความยั่งยืนในอนาคต

“ระบบพลังงานของไทยยังคงรวมศูนย์ และในอนาคตการพึ่งพาพลังงานนำเข้าจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลง และย่อมส่งผลต่อภาระค่าไฟของประชาชนที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย”

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าคณะวิจัย CFNT

นอกจากนี้ การพึ่งพาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนเพื่อรับมือกับกฎหมายโลกร้อนอาจทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นอีก 20% ขณะที่เป้าหมาย Net Zero Carbon หรือ เป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ของไทยถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ล่าช้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (ไม่นับรวมประเทศที่ยังไม่ตั้งเป้าหมาย)

เพื่อให้โลกยังอยู่อาศัยได้ มนุษย์ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% ภายใน 6 ปี 

กัญจน์ ทัตติยกุล กลุ่มแสงสุรีย์พาวเวอร์กิจการเพื่อสังคม และสมาชิกเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ได้แบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้ของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น กรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถูกยกเลิกหลังจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ และกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ต้องเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หลังจากรายงานผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชนไม่ผ่านการอนุมัติถึง 8 ปี

อีกทั้งยังมีการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น จังหวัดกระบี่และสงขลา ที่รวมตัวกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของพวกเขา โดยในกระบี่ เครือข่ายชุมชน “Save Andaman from Coal” ได้เสนอรายงานว่าพื้นที่สามารถพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% จากแหล่งพลังงานหลากหลาย เช่น ชีวมวล แสงอาทิตย์ และลม ซึ่งเชื่อมต่อด้วยระบบ Smart Grid

กัญจน์ ทัตติยกุล กลุ่มแสงสุรีย์พาวเวอร์กิจการเพื่อสังคม และสมาชิกเครือข่ายเพื่อนตะวันออก

กัญจน์ เล่าว่า แม้การตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยจะเป็นไปได้ยาก แต่ทางภาครัฐเองก็ยังพยายามให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ล่าสุดจะตั้ง โรงไฟฟ้าความร้อนที่หงสา ประเทศลาว ซึ่งเกิดจากการลงทุนโดยเอกชนไทย และส่งไฟฟ้ากลับมาขายที่ไทย และเป็นการสร้างมลภาวะข้ามพรมแดน ภาครัฐของไทยยังต้องสร้างความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบัน ต้นทุนพลังงานสะอาดต่ำลงเรื่อย ๆ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ขณะที่ต้นทุนพลังงานฟอสซิลกลับสูงขึ้นเพราะหาได้ยาก

เพื่อรักษาสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์อาศัยได้ จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% ภายใน 6 ปี หรือเท่ากับการลดลงปีละ 9% ตามคำแนะนำของสหประชาชาติ โดยตัวการสำคัญคือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เป็นแหล่งปล่อย CO2 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าพลังความร้อน สำหรับประเทศไทย ภาคพลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 36% ของการปล่อยทั้งหมด

ปฏิรูปพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด คือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก

อุปสรรคสำคัญคือ ความเข้าใจของชุมชนต่อเรื่องพลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้สับสนว่าเป็นมิตรต่อธรรมชาติ แต่ก๊าซเรือนกระจกส่งผลต่อวิกฤตภาวะเรือนกระจกโดยตรง โดยการเผาไหม้ก๊าซฟอสซิลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 22% ของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด โดยมีมีเทนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายสภาพภูมิอากาศแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 80 เท่า ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจึงเป็นทางที่ต้องทำ ไม่ใช่เลือกทำ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมาก เพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาพอ ๆ กับก๊าซฟอสซิล และมีแนวโน้มจะต่ำลงได้อีก โดยคาดการณ์ว่า ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึงราว 4.06 ถึง 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน แต่การพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ยังไม่แพร่หลาย เพราะถูกขัดขวางจากกลไกรัฐในหลายด้าน เช่น รับซื้อในราคาถูก, ขาดแหล่งทุนพลังงาน, ขั้นตอนขอติดตั้งยุ่งยาก และที่สำคัญ รัฐยังไม่ใช้ระบบคิดค่าไฟแบบ Net-metering ซึ่งจะเอื้อให้ทุกบ้านสามารถลดค่าไฟที่ต้องจ่ายได้มากขึ้น ตามปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์

การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยจำเป็นต้องอาศัยนโยบายรัฐที่ชัดเจน พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นคำตอบให้กับประเทศไทยในภาวะวิกฤตพลังงานได้ กุญแจสำคัญคือรัฐต้องกระจายอำนาจการผลิตพลังงานให้ประชาชน ให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาด และราคาถูก เหมือนที่เรากำลังขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นใน จ.ฉะเชิงเทรา

กัญจน์ ทัตติยกุล

ฉะเชิงเทรา กำลังจะกลายเป็นจังหวัดต้นแบบ ของโมเดลกิจการเพื่อสังคม ให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์ราคาย่อมเยา โดยทุกบ้านสามารถผ่อนชำระค่าติดตั้งได้ภายใน 8 ปี โดยที่ค่าผ่อนรายเดือนจะเท่ากับหรือใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้าที่ลดลงจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายพลังงาน ทำให้พลังโซลาร์เริ่มเข้าถึงโรงงาน ร้านค้า บริการ โกดัง สถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน และภาคเกษตร รวมถึงครัวเรือนที่มีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กัญจน์หวังว่า พลังในการกำหนดทิศทางพลังงาน จะกระจายอำนาจสู่ประชาชนได้เร็ววัน

‘แสงสุรีย์พาวเวอร์’ กลุ่มกิจการเพื่อสังคม ให้บริการแผงโซลาร์เพื่อครัวเรือนและกิจการอื่น ๆ ในราคาย่อมเยา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active