‘แสงอาทิตย์’ เป็นของใคร ? คนรุ่นใหม่ตั้งคำถาม ชวนสังคมใส่ใจความเท่าเทียม ‘พลังงาน’

The Active x TDRI ปั้นนักสื่อสารรุ่นใหม่สะท้อนแง่มุมด้านพลังงาน ยกผลงาน “อาทิตย์เป็นของทุกคน แต่พลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นของใคร” คว้ารางวัลยอดเยี่ยม โครงการ Content Creator Workshop : Synergy for Clean Energy 

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 68 ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส, สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) จัดงานประกาศรางวัล ในโครงการ Content Creator Workshop : Synergy for Clean Energy 

การมอบรางวัลครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 ทีม รวม 18  คน ซึ่งประกอบไปด้วย Content Creator, นักข่าว, นักเคลื่อนไหว, นิสิต, นักศึกษา และผู้สนใจในประเด็นพลังงานของประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Content Creator Workshop : Synergy for Clean Energy  ระหว่างวันที่ 16 – 17 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน รวมทั้งการวางแผนออกแบบงานสื่อสาร และผลิตคอนเทนต์ กับสื่อมวลชนมืออาชีพ จากกองบรรณาธิการ The Active และ Policy Watch ก่อนที่นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ พิจารณาคัดเลือกชิ้นงานที่มีความโดดเด่น ตามหลักเกณฑ์ 6 หัวข้อดังนี้

  1. ความน่าสนใจแตกต่างของประเด็น
  2. ความถูกต้องของข้อมูลเนื้อหา
  3. การเล่าเรื่องร้อยเรียงได้เข้าใจง่าย
  4. กราฟิกสอดคล้อง สวยงาม ดึงดูด
  5. กราฟฟิกช่วยขยายความเข้าใจได้ดีและถูกต้อง
  6. การปฏิบัติตามกติกาการแข่งขัน

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ปรากฎว่า รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ บทความหัวข้อ “อาทิตย์เป็นของทุกคน แต่พลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นของใคร” โดย สุดารัตน์ บำรุงศักดิ์ศิลป์, ศุภินทรา แสงอรุณ และ อาทิตยา เพิ่มผล โดยได้เงินพัฒนาผลงาน 15,000 บาท

ขณะที่รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่บทความหัวข้อ “ไทยมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ทำไมจ่ายค่าไฟแพง ?” โดย กอร์ย่า ศรีสวัสดิ์, วรเทพ พูลสวัสดิ์ และ วิมลสิริ คงเพียรธรรม เช่นเดียวกับบทความหัวข้อ “Nuclear 2037 Fear or Future: สำรวจ SMRs โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จิ๋ว Unlock วิกฤติพลังงานชาติ” โดย ณัฐพล จากน่าน, วชิรวิทย์ พุทธชัย, กร มาร์ค ดอน กาเบรียล และ ธิติสุทธิ์ พู่จิตร์กานนท์ ได้เงินพัฒนาผลงานทีมละ 10,000 บาท

ทั้งนี้ผลงานของทีมที่ได้รับการคัดเลือก จะถูกนำไปพัฒนาต่อ ก่อนเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารของ The Active และ Policy Watch ต่อไป

สุดารัตน์ บำรุงศักดิ์ศิลป์ ตัวแทนทีมที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ระบุว่า ทีมต้องการสื่อสารให้สังคมได้เห็นถึงภาพความเท่าเทียมการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังแสงอาทิตย์ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องไกลตัวในแง่ของการเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในระดับครัวเรือนของประชาชน บทความชิ้นนี้จึงพาไปหาคำตอบข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าในเรื่องการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด การขับเคลื่อนจะต้องรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงในสังคม 

สำหรับ โครงการ Content Creator Workshop : Synergy for Clean Energy มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการสื่อสาร และความเข้าใจให้กับสังคมในประเด็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากประเด็นการสื่อสารด้านพลังงาน และไฟฟ้าเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งยังเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไปจนถึงโอกาสการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจมหภาค ดังนั้นการสื่อในเรื่องของพลังงานและไฟฟ้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียบเรียงและสื่อสารต่อสาธารณะชนอย่างครบถ้วน รอบด้านและถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสูงสุดแก่สาธารณชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active