กรมชลประทาน คาด ฤดูฝนปีนี้ (2565) จ.เพชรบุรี มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10 เตรียมเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำในพื้นที่
8 มี.ค. 2565 – เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 5-10 จึงทำให้จังหวัดเพชรบุรีมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมได้อีกครั้ง เพราะจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในแนวร่องน้ำผ่านของลุ่มน้ำเพชรบุรี เมื่อฝนตกหนักเกิน 230 มิลลิเมตร ติดต่อกันเป็นเวลานาน 48 ชั่วโมงขึ้นไป จะเกิดน้ำป่าไหลลงจากต้นน้ำและบริเวณพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำ ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ห้วยแม่ประจันต์ ห้วยผาก และลำน้ำสาขาแม่น้ำเพชรบุรีต่าง ๆ มารวมกันที่แม่น้ำเพชรบุรี ผ่านอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ซึ่งตลิ่งทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี มีการยกเพื่อป้องกันการไหลบ่าเข้าพื้นที่ตลอดเส้นทาง ทำให้ปริมาณน้ำทั้งหมดไหลเข้าอำเภอเมืองเพชรบุรี ในขณะที่ตัวเมืองเพชรบุรีสามารถรับปริมาณน้ำได้เพียง 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น
กรมชลประทานจึงได้กำหนดแผนการก่อสร้างดังกล่าวเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน เป็นการปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 3 และคลองระบายน้ำ D.9 พร้อมอาคารประกอบ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยสามารถระบายน้ำได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงสู่ทะเล ปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ ใช้งบประมาณ 1,100 ล้านบาท จึงทำให้ตั้งแต่ปี 2562-2564 กรมชลประทานสามารถระบายน้ำเลี่ยงเมืองป้องกันอุทกภัยในเขตเมืองได้สำเร็จ
ส่วน ระยะยาว ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ให้เปิดโครงการ เตรียมความพร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน การสำรวจ ออกแบบ และการจัดหาที่ดิน โดยจะมีการดำเนินการ คือ การปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 ซึ่งดำเนินการในเขตคลองเดิม (ไม่มีการจัดหาที่ดิน) ร่วมกับการปรับปรุงคลองลำห้วยยาง (มีการจัดหาที่ดิน) ทั้ง 2 ส่วนรวมกันไปเชื่อมต่อกับคลองระบายน้ำ D.1 ซึ่งต้องมีการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมรวมระยะทางทั้งสิ้น 31 กิโลเมตร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถระบายน้ำได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงสู่ทะเล ซึ่งจะดำเนินการตามแผนงานตั้งแต่ปี 2567 – 2571 ภายในวงเงินงบประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยคลองระบายน้ำ D.1 จะสามารถป้องกันน้ำท่วมในรอบ 25 ปี
ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำไหลผ่านตัวเมืองมากถึงประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีได้ ขณะที่น้ำท่วมใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดเพชรบุรีในปี 2547 มีน้ำไหลผ่านตัวเมืองประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในจังหวัดเพชรบุรีทั้งหมด 13 แห่ง มีน้ำมากกว่า ร้อยละ 80
นอกจากนี้ กรมชลประทาน มีแนวทางเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อชะลอน้ำ เช่น การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานขึ้นจากเดิม 710 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 760 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือรับน้ำได้มากขึ้น 50 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 และการขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ รวมทั้งมีโครงการที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสาริกา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่อุทยานก่อสร้าง
ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่มักเกิดขึ้นในเขตอำเภอชะอำ กรมชลประทาน ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เป็นแนวทางปฏิบัติ ด้วยการจัดทำโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการบริหารจัดการน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยใช้แรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติเพื่อค่อย ๆ ระบายน้ำข้ามลุ่มน้ำเป็นการจัดการอ่างเก็บน้ำเป็น “พวง” คือ เป็นกลุ่มของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 6 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (ศูนย์พัฒนาฯ ห้วยทราย) และอ่างเก็บน้ำห้วยทราย – หุบกะพง ที่เดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง โดยขณะนี้อ่างพวงทั้ง 6 แห่งมีน้ำมากกว่า 80% เช่นกัน
งานป้องกันภัยแล้งที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ที่ต้องเร่งดำเนินการในเขตอำเภอชะอำ และต่อเนื่องไปถึงอำเภอหัวหิน (สามารถดำเนินการได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมีการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม) คือ การปรับปรุงคลองส่งน้ำ 1 ขวา-สายใหญ่ฝั่งขวา 1 หรือคลองสายหัวหิน ความยาว 41 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอของบประมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้เพื่อการเกษตร เนื่องจากคลองเดิมมีขนาดเล็ก ไม่สามารถส่งน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการ ใช้เป็นเส้นทางในการตัดน้ำหลาก จากเทือกเขาตะนาวศรี ที่จะไหลบ่าเข้าท่วมถนนเพชรเกษม ทำให้การจราจรติดขัดเป็นระยะทางยาวถึง 3 กิโลเมตร เป็นประจำเมื่อถึงฤดูฝน และใช้เป็นแหล่งน้ำดิบ เพื่อผลิตน้ำในการอุปโภค-บริโภค ของอำเภอชะอำ และอำเภอหัวหิน
ทั้งนี้ ยังมีงานช่วยเหลือต้นทุนน้ำให้กับโครงการพระราชประสงค์หุบกะพง ในเขตอำเภอชะอำ โดยมีการดำเนินงาน ทำท่อผันน้ำ จากอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ผันสู่อ่างเก็บน้ำตะแปด ระยะทาง 41 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ คือ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้เพื่อการเกษตร เนื่องจากบริเวณอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 อ่างในเขตโครงการพระราชประสงค์ฯ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายหุบกะพง อ่างเก็บน้ำหุบกะพง และอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว มีพื้นที่การรับน้ำน้อย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรออนุมัติแบบก่อสร้าง และลงพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบของแนวท่อที่ผ่านในแต่ละพื้นที่ของชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากแนวท่อมีระยะทางความยาวหลายกิโลเมตร