‘รศ.เสรี ศุภราทิตย์’ ย้ำ ต้องเร่งคุยเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปรับระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ ยอมรับ จัดระเบียบพื้นที่ใหม่ ยังมีอุปสรรค รัฐไม่ชัดเจนแนวทางชดเชย เวนคืนที่ดินริมน้ำ ทำคนไม่อยากย้ายออก เปรียบ น้ำสาย แม่น้ำที่ตายแล้ว! สภาพตื้นเขิน แคบ เจอสารพิษปนเปื้อนซ้ำ วอนเร่ิมแก้วันนี้ ก่อนทุกอย่างสายเกินไป
วันนี้ (24 พ.ค. 68) รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมแม่สายซ้ำซาก ในรายการ ชั่วโมงข่าวเสาร์ – อาทิตย์ ThaiPBS ระบุว่า ฝนที่ตกหนักในช่วง 23–26 พ.ค.นี้ มีผลกระทบโดยตรงกับพื้นที่แม่สายโดยเฉพาะในวันที่ 24 – 26 พ.ค. ที่มีความเสี่ยงสูงสุด ทั้งนี้ แม้จะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าโดยศูนย์ภัยพิบัติผ่าน SMS หลายครั้ง แต่การตอบสนองในระดับท้องถิ่นยังล่าช้า
“เรามีเทคโนโลยีที่สามารถแจ้งเตือนภัยได้ภายใน 1 นาที แต่ต้องได้รับข้อมูลจากพื้นที่ก่อน ท้องถิ่นต้องทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการประเมินความเสี่ยงและเคาะประตูเตือนประชาชน การเตือนภัยผ่านเสียงตามสายหรือรถขยายเสียงควรเริ่มทันทีเมื่อได้รับสัญญาณ”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์

‘น้ำสาย’ เหมือนแม่น้ำที่ตายแล้ว
แม้น้ำจะยังไม่ท่วมหนักเท่าปีที่แล้ว แต่ปัญหาหลักคือ สภาพแม่น้ำแม่สายที่ตื้นเขินและแคบ ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำได้เพียงพอ รศ.เสรี ย้ำว่า การขุดลอกเป็นมาตรการอันดับหนึ่งที่ต้องเร่งทำ โดยเฉพาะฝั่งเมียนมา ซึ่งเป็นต้นน้ำของพื้นที่นี้
พร้อมทั้งบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “แม่น้ำสายตอนนี้เป็นแม่น้ำที่ตายแล้ว” เพราะไม่เหลือความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพอีกต่อไป สะท้อนจากทั้งการตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ และการพบสิ่งมีชีวิตผิดปกติ เช่น ปลาที่มีตุ่มหรือรูปร่างแปลกประหลาด รวมถึงการตรวจพบสารพิษสะสมในร่างกายของชาวบ้านบริเวณชายแดน
“ตราบใดที่แม่น้ำยังไม่ถูกขุดลอก การป้องกันไม่ให้น้ำท่วมชุมชนก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยมองว่า การวางบิ๊กแบ็ก หรือการทำคันกันน้ำชั่วคราวไม่อาจแก้ปัญหาได้ในระยะยาว”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
แนวคันกั้นน้ำถาวร – ทางรอดที่ต้องเจรจาและย้ายคน
รศ.เสรี ย้ำว่า รัฐบาลมีแผนสร้างคันกั้นน้ำถาวรแนวใหม่ ห่างจากตลิ่งเดิมราว 30–200 เมตร เพื่อปกป้องตัวเมืองแม่สาย โดยมีแบบจำลองแสดงให้เห็นว่า หากสร้างคันกั้นน้ำสูง 3 – 4 เมตร จะสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ แต่ยอมรับว่า อุปสรรคสำคัญคือ การเวนคืนพื้นที่และการเจรจากับผู้ที่อยู่อาศัยนอกแนวคัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่บุกรุกริมแม่น้ำ
“ทุกคนรอดูว่ารัฐจะให้ค่าชดเชยไหม ถ้าไม่ ก็ไม่มีใครย้าย เราไม่สามารถสร้างตึกอยู่ริมแม่น้ำในลักษณะนี้ได้อีกแล้ว ต้องจัดระเบียบใหม่”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์

ฝนตกซ้ำเติม ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ
นอกจากน้ำหลากจากต้นน้ำในเมียนมา ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ก็มีผลอย่างยิ่ง โดยคืนก่อนหน้า มีปริมาณฝนวัดได้ถึง 80 – 100 มม. ซึ่งเพียงพอจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ แม้จะมีคันกั้นน้ำอยู่แล้วก็ตาม
“นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะน้ำจากต้นน้ำ ต้องจัดการน้ำฝนในพื้นที่ด้วย ต้องมีระบบระบายน้ำในเขตเมืองให้เพียงพอ”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
แนวทางฟื้นฟูน้ำ-สิ่งแวดล้อม ฝาย, บ่อชุ่มน้ำ, ไส้กรองชีวภาพ
นอกจากการป้องกันน้ำท่วม รศ.เสรี ยังเสนอถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่น การสร้างฝายยกระดับน้ำเพื่อให้สามารถบำบัดได้ การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำเทียมด้วยพืชดูดซับสารพิษ เช่น ธูปฤาษี และการใช้วัสดุชีวภาพอย่างขี้เลื่อยเป็นไส้กรองก่อนปล่อยน้ำลงแม่น้ำสาย และ แม่น้ำกก
ทั้งนี้ต้องทำทุกอย่างควบคู่กัน ไม่สามารถเลือกทำเฉพาะบางมาตรการได้ เพราะสถานการณ์ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วม แต่ยังมีมลพิษและสารปนเปื้อนที่ต้องจัดการด้วย
เจรจาเมียนมา – จีน ภารกิจยากที่ยังไม่เริ่มต้น
ประเด็นสำคัญที่สุดที่ยังไม่มีความคืบหน้า คือการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในการขุดลอกแม่น้ำและการควบคุมเหมืองที่ปล่อยสารโลหะหนัก
“เรารอให้เมียนาขุดลอก แต่มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทำ ส่วนจีนที่เป็นเจ้าของเหมือง เราจะเจรจาให้หยุดกิจการ หรือเปลี่ยนวิธีการอย่างไร ยังไม่มีใครเริ่มพูดอย่างจริงจังเลย”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
ถ้าไม่เริ่มวันนี้ จะเสียหายซ้ำซากอีกในอนาคต
รศ.เสรี ยังเตือนว่า สถานการณ์น้ำท่วมแม่สายปีนี้อาจไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา แต่หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เช่น ขุดลอกแม่น้ำ สร้างคันกั้นน้ำถาวร และเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ความเสียหายก็จะกลับมาอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้
“ปีนี้คุณอาจยังรอด แต่ถ้ายังปล่อยไว้อย่างนี้ ปีหน้า…หรือปีถัดไป
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
อาจไม่โชคดีแบบนี้อีกแล้ว”