ครบรอบ 22 มีนาคม “วันน้ำโลก” แต่ไทยยังเสี่ยงขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมหนัก จากความแปรปรวนสภาพอากาศ

ในโอกาส “วันน้ำโลก”พบไทยยังมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเกือบทุกภาค แม้ไทยจะมีฝนตก 7 แสนล้านลบ.ม. แต่ก็พบว่าสามารถกับเก็บน้ำในระบบกักเก็บน้ำได้ 7.9 หมื่นล้านลบ.ม.เท่านั้น ทำให้ไทยยังมีปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากทุกๆปี

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างมาก ระยะหลังมานี้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนไปจากที่เคยตกกลับตกน้อยลง และจุดที่ตกน้อยกลายเป็นตกแช่ตกหนักจนบางครั้งทำให้เกิดน้ำท่วม

ขณะที่งานวิจัยงานบางส่วนชี้จัดหากน้ำทะเลสูงขึ้น 20 เซนติเมตร กรุงเทพมหานครจะติด Top 3 จมน้ำหากไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศต้องร่วมกันทั้งภาครัฐและประชาชน เพราะปัญหาส่วนใหญ่ของบ้านเราคือท่วมและแล้ง ที่เป็นปัญหายาวนานที่ยังแก้ไขได้ยาก

ข้อมูล สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ระบุ ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมากกว่า 1.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งนับวันก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทานมีปัญหาขาดแคลนน้ำค่อนข้างสูงมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออกบางส่วน ขณะที่บางพื้นที่ก็ยังเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด ในการอุปโภคและบริโภค จึงเป็นจุดอ่อนไหวที่ประเทศไทยต้องเร่งบริหารจัดการ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเข้าถึงน้ำสะอาดให้เพียงพอ

ขณะที่วันนี้ (22 มี.ค. 65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันน้ำโลกประจำปี 2565 เพื่อสื่อสารองค์ความรู้ และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการสร้างความร่วมมือและพัฒนาแนวคิดของเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องน้ำใต้ดิน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่องค์การสหประชาชาติ ให้ความสำคัญ และเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันน้ำโลกปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)


ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเน้นความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ โดยให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น มีส่วนร่วมดูแลการจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ และให้สอดรับกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความมั่นคงและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

ขณะที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำใต้ดินอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การฟื้นฟูป่ารักษาความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศ การเติมน้ำใต้ดินผ่านแหล่งน้ำต่าง ๆ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ลดการรุกล้ำของน้ำเค็ม บรรเทาอุทกภัย และการใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง

พร้อมไปกับการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำและน้ำใต้ดิน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย “ทศวรรษแห่งการร่วมมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติด้านน้ำ และเพื่อประโยชน์สูงสุด คือการรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อประชาชนรุ่นหลังสืบต่อไป

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สทนช.ลงนามร่วมกับ 4 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ความร่วมมือในการส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบในเรือนจำและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับกระทรวงยุติธรรม 2) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และอีก 2 ฉบับ เป็นความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาวิกฤติการขาดแคลนน้ำ ซึ่งทั้ง 5 หน่วยงาน จะร่วมกันยกระดับการทำงานด้านการจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำองค์ความรู้ทั้งการพัฒนาและประยุกต์ใช้ข้อมูลและสารสนเทศภูมิศาสตร์ การประเมินผลด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์