Beach For Life เตรียมทวงคำตอบ แก้กำแพงกันคลื่น 6 ธ.ค. นี้

หลังให้เวลารัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ทบทวนโครงการกำแพงกันคลื่น #ทวงคืนชายหาด เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 90 องค์กร รอฟังคำตอบ “ยกเลิกอำนาจกรมโยธาฯ-จัดทำ EIA-ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหาย”

วันนี้ (2 ธ.ค. 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดกว่า 90 องค์กร นับถอยหลังทวงถามข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนชายหาด จากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยระบุว่า “3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คือวาระร่วมของคนไทยทั้งประเทศ” พร้อมเชิญชวนประชาชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเลและคนรักชายหาดเดินทางไปทวงถามจากรัฐบาล

กรณีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 25 พ.ย. 2565 ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องสำคัญ คือ 1) ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีให้อำนาจกรมโยธาธิการฯ ในการป้องกันชายฝั่ง 2) กำแพงกันคลื่นต้องกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ 3) ต้องฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย

โดยมี สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรีและรับปากว่าจะดำเนินการเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ยื่นเงื่อนไขให้เวลารัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 10 วันหลังจากนี้ เมื่อครบ 10 วัน จะกลับมาติดตามเรื่องจากรัฐบาล และประกาศชวนสังคมร่วมเคลื่อนไหวติดตามประเด็นดังกล่าว

อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน กลุ่ม Beach for life กล่าวว่า ในต่างประเทศ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นสิ่งที่กระทบกับบริบทพื้นที่โดยรอบ หากไปก่อสร้างที่ไหนชายหาดก็สูญหาย นักวิชาการหลายประเทศเรียกว่า the death of beach เปรียบเหมือนความตายของชายหาด แต่ประเทศไทยไม่มีการพิจารณา EIA ตั้งแต่ ปี 2556 โดยสำนักงานนโยบายและแผนตามคำร้องขอของกรมเจ้าท่าฯ หลังจากนั้น คือกำแพงกันคลื่นระบาด มีข้อมูลพบว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิกาและผังเมือง มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั้งหมด 125 โครงการ ใช้งบประมาณกว่า 8,400,000,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาเพียงแค่ 9 ปี

“ในเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง กรมโยธาฯ ก็มีการกำหนดสเปก และพยายามชี้นำให้ชาวบ้านเลือกกำแพงกันคลื่น พยายามชักจูงชาวบ้านว่าการทำกำแพงกันคลื่นเป็นวิธีการที่ดีที่สุดและจะทำให้ส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ในความเป็นจริงแล้วมันตรงกันข้าม ซึ่งในบางพื้นที่หาดกัดเซาะแค่นิดเดียว ใช้วิธีอื่นแก้ปัญหาได้ดีกว่า ที่ไม่ใช่กำแพงกันคลื่น เช่น การเติมทราย อาจจะคุ้มค่าและได้ประโยชน์มากกว่า แต่กรมโยธาไม่เลือกทางนี้ ท้ายที่สุดพอสร้างจุดหนึ่ง พื้นที่ถัดไปก็ต้องสร้างต่อเนื่องเรื่อย ๆ”

ผู้ประสานงาน กลุ่ม Beach for life อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีการฟื้นฟูอยากให้พิจารณาในพื้นที่การท่องเที่ยวก่อน เพราะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ เช่น หาดปราณบุรี อยากให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาทำการศึกษาและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีการจะเป็นอย่างไร จะต้องไปดูในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรให้กลับมาเป็นชายหาดเหมือนเดิม และกลับมาสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ อย่างหาดชะอำ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก

“เราให้เวลารัฐบาล 10 วันในการดำเนินมาตรการตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ ซึ่งเราจะไม่ลดข้อเรียกร้องอะไร ครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เราจะไปทวงถามที่สำนักนายกฯ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง และหลังจากนั้นถ้ามีความคืบหน้า เราคิดว่าเราจะยกระดับการเคลื่อนไหวตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่า 3 ข้อเรียกร้องนี้มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะเรียกร้อง ว่าการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหลังจากนี้ กรมโยธาฯ ควรยุติบทบาทเพราะสร้างความเสียหายเยอะมาก เราอยากข้อเรียกร้องออกมาเป็นมติ ครม. ถ้าไม่ได้ เราก็จะกดดันและเรียกร้องต่อไป ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการที่ผ่านมา มีมากเพียงพอที่จะเดินทางไปเรียกร้อง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active