สปสช. ชี้แจงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเกี่ยวกับการให้บริการโควิด-19

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโรคโควิด-19 ชี้แจงทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ รองรับผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง เริ่มแล้วตั้งแต่ 1 มีนาคม 

วันนี้ (3 มี.ค. 2565) พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุถึงการจ่ายชดเชยค่าบริการโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงเริ่มต้น 1 มีนาคม 2565 ให้แก่หน่วยบริการในระบบ UC (Universal Coverage)  หรือ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ทั่วประเทศ

สปสช.
ภาพ: สำนักข่าว Hfocus (แฟ้มภาพ)

สำหรับรายการค่าบริการสำหรับคนไทยทุกสิทธิ์ ทุกกองทุนจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแต่ละกองทุนมีรูปแบบและแนวทางไม่แตกต่างกัน แต่เงื่อนไขบางอย่างอาจขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละกองทุน ซึ่งในการประชุมชี้แจงครั้งนี้ เน้นกองทุนในระบบ UC เท่านั้น โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม ได้แก่ กรณีการคัดกรองสำหรับคนไทยทุกสิทธิ์ อัตราการจ่าย RT-PCR ประเภท 2 ยีน 900/ครั้ง ประเภท 3 ยีน 1,100 บาท/ครั้ง ส่วน Antigen Professional ตรวจวิธี Chormatography 250/ครั้ง และตรวจด้วย FIA 350/ครั้ง 

นอกจากนี้ สปสช. ยังสนับสนุนชุดตรวจการติดเชื้อแบบ ATK ทุกสิทธิ์ แต่ให้เฉพาะคนที่มีผลการคัดกรองเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยจะได้รับชุดตรวจครั้งละไม่เกินจำนวน 2 ชุดต่อครั้ง และมีการรายงานผลตรวจผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดย สปสช. จะจ่ายเงินในส่วนนี้เป็นราคาเหมาจ่ายในอัตรา 55 บาทต่อชุด 

ส่วนการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OP Self Isolation) อัตราการจ่ายแยกเป็น 2 ส่วน กรณีแรก ค่าบริการดูแลรักษาฯ การจ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อคน โดยคิดค่าบริการด้านให้คำแนะนำ การแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยาที่เป็นการรักษาโควิด-19 เช่น ฟ้าทะลายโจร หรือ ฟาวิพิราเวียร์ ตามแนวทางกรมการแพทย์และยาตามอาการรวมค่าจัดส่ง การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง และการจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องส่งต่อ

ขณะที่กรณีที่ 2 คิดค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อได้รับค่าปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด-19 หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง ไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือให้ปรึกษาอื่น ๆ จ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่าย 300 บาทต่อคน สำหรับหน่วยบริการที่ให้การดูแลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

OP With Self Isolation Home  Isolation
ประเภทการรักษาOPDIPD
การแยกกักตัวที่บ้านมีมี
จ่ายยาตามอาการมีมี
โทรติดตามอาการมี (ครั้งเดียวภายใน 48 ชั่วโมง)ทุกวัน
อุปกรณ์ตรวจประเมินไม่มีมี
ระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลงมีมี
บริการอื่น ๆ อาหารไม่มีมี
เปรียบเทียบการบริการระหว่างการรักษาแบบผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก

ส่วนการกำหนดอัตราการจ่ายแบบเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 คน  มีข้อเสนอในการกำหนดราคา กรณีดูแลรวมค่าอาหาร รักษา 7 วันขึ้นไป 12,000 บาท 1-6 วัน อยู่ที่ 6,000 บาท แต่ถ้าเป็นค่าดูแลแต่ไม่รวมค่าอาหาร รักษา 7 วันขึ้นไป 8,000 บาท 1-6 วัน อยู่ที่ 4,000 บาท

“ต่อไปไม่ว่าจะรักษาใน HI, CI หรือ Hospitel อัตราค่าบริการจะอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน ค่าใช้จ่ายจะมากน้อยจะขึ้นอยู่กับอาการและจำนวนวันเป็นหลัก” 

ส่วนการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน หากผู้ป่วยมีสิทธิ์ UC จะเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็ต้องเข้าเงื่อนไขตามหลักสิทธิ์ UCEP หรือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

ทั้งนี้ สปสช. ยังจัดให้มีระบบตรวจสอบก่อนจ่าย สำหรับการจ่ายแบบเหมาจ่าย โดยให้ผู้ป่วยมีการประเมินการรับบริการผ่านแอปพลิเคชันของ สปสช. (Line OA@nhso) หรือข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ กรณีที่ไม่พบบริการ จะปรับลดการจ่ายรายการนั้นตามแนวทางที่กำหนด  


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส