‘ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19’ ขยายระบบ “savekidscovid19” เปิดศูนย์แยกกักตัว “บ้านปันยิ้ม” รองรับกลุ่มเด็กเปราะบางเข้าถึงบริการ 24 ชม. หลังประเมินแนวโน้มเด็กติดเชื้อโควิด-19 พุ่งหลังสงกรานต์
ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กรมสุขภาพจิต องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และกลุ่มคลองเตยดีจัง เปิด “บ้านปันยิ้ม” ศูนย์แยกกักตัว Community Isolation เพื่อแม่และเด็กเข้าถึงการรักษาโควิด-19
จตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ตั้งแต่ธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบัน มีเด็กติดเชื้อรวม 234,790 คน โดยกรุงเทพมหานครมีเด็กติดเชื้อเฉลี่ยสูงสุดมากกว่าวันละ 400 คน และในส่วนภูมิภาคที่มีเด็กติดเชื้อรายวันมากกว่าวันละ 100 คน ได้แก่ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช นนทบุรี ชลบุรี สงขลา และนครราชสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นเดือนที่มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงวันละประมาณ 4,000 – 5,000 คน แม้จะลดลงในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังมีสถิติค่อนข้างสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 3,500 คน และการระบาดอาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสงกรานต์จนถึงเปิดเทอมปีการศึกษา 2565
“แม้ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในภาพรวมไม่สูงมาก แต่ปัญหาสำคัญคือเด็กจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อเด็กหรือครอบครัวป่วย จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและเข้าถึงระบบการรักษา ซึ่งการดูแลปกป้องคุ้มครองไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานเดียว จึงมีความร่วมมือกันดำเนินงาน ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19 หรือ #savekidscovid19”
ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19 ได้เตรียมระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กและครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางด้วยการเปิด “บ้านปันยิ้ม” เป็นศูนย์แยกกักตัว Community Isolation เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา ในทุกมิติ จุดเน้นสำคัญคือทำให้เด็กได้รับการดูแลโดยครอบครัวมากที่สุด
นอกจากนี้ได้เปิดระบบประสานและส่งต่อเด็กกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำกรณีกักตัวที่บ้าน Home Isolation โดยจะจัดส่งยา ประสานหาเตียง คัดกรองเชิงรุก ปฐมพยาบาล ดูแลจิตใจ และจัดหาอาสาสมัครดูแล หวังลดความแออัด การเดินทาง การรอคอยระบบรักษาที่สถานพยาบาล
ทั้งนี้ สามารถติดต่อศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ Line Official “savekidscovid19” สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรศัพท์ 065 506 9574 และ 065 506 9352 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น.