รองโฆษกพรรคกล้า แนะ ควรยกระดับภูเก็ตมากกว่ามิติการท่องเที่ยว เสนอผลักดันให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง หลัง ครม. เคาะงบฯ กว่า 1,400 ล้านบาท ดันภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ชี้ รัฐจัดการฝ่ายเดียวไม่ได้
หลัง ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า ครม. อนุมัติหลักการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยใช้ที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 141 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 66-69 วงเงินลงทุน 1,411.70 ล้านบาท โดยโครงการฯ จะมีการจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย 1) ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร 2) ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ 3) ศูนย์ใจรักษ์ หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต และ 4) ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร นั้น
ล่าสุด เทมส์ ไกรทัศน์ รองโฆษกพรรคกล้า ยอมรับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ ครม. หาวิธีการกระจายรายได้ของภูเก็ต นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแบบปกติทั่วไป สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ GEMMSS (Gasronomy – Education – Medical & Wellness – Marina – Sport -Smart City) ของจังหวัด แต่เมื่อดูงบประมาณแล้ว มองว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาด้านหนึ่งเท่านั้น
เขามองว่า แม้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ แต่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่ได้เป็นเรื่องของโรงพยาบาลรัฐเพียงอย่างเดียว ควรให้เอกชนร่วมบริหาร หรือมีบทบาทสำคัญในโครงการด้วย ซึ่งเอกชนหลายเจ้าในภูเก็ต มีประสบการณ์และนำร่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาก่อนหน้านี้แล้ว จนทำให้ภูเก็ต เป็นที่เก็บตัวของนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องสุขภาพ เป็นที่เก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬา หากให้รัฐบริหารฝ่ายเดียว การพัฒนาอาจไม่ตรงตามเป้าหมาย เพราะไม่เข้าใจการท่องเที่ยว
“ไม่ใช่แค่ใช้งบฯ 1,411 ล้านบาท แล้วจะทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกได้ แต่ต้องคิดถึงการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในจังหวัดด้วย แม้จะมีศูนย์สุขภาพครบวงจร แต่ถ้าโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ความปลอดภัย คุณภาพชีวิตโดยรอบไม่ดีพอ ก็คงไม่สามารถพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกได้…”
เทมส์ ไกรทัศน์ รองโฆษกพรรคกล้า
รองโฆษกพรรคกล้ายังกล่าวอีกว่า การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวยุคหลังโควิด-19 จะพึ่งพาการท่องเที่ยวแบบรายวันเหมือนเดิมไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในภูเก็ตได้นานที่สุด ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว 100 คน แล้วอยู่ 10 วัน แต่ต้องทำให้อยู่ 100 วัน และสามารถสร้างมูลค่า สร้างการบริโภคให้ได้มากที่สุด ต้องทำให้ภูเก็ตมีความมั่นคงมากขึ้น สามารถบริหารจัดการตัวเองทางยุทธศาสตร์และรายได้มากขึ้น ด้วยการทำให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดจัดการตนเอง เพราะมั่นใจว่าแนวทางนี้ จะเป็นโอกาสที่ทำให้ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกได้อย่างแท้จริง