ตัวแทนบีอาร์เอ็นระบุ ตัวแทนรัฐบาลบนโต๊ะพูดคุยฯ ยอมรับอัตลักษณ์และ ‘ประชาคมปาตานี’ ให้เป็น ‘ประชาชนไทยเชื้อสายมลายู’ บนบัตรประชาชน เตรียมต่อรองแนวทางการเมือง ตั้งรัฐสภาและศาลปาตานี ยืนยัน ‘ไม่ลดธงเอกราช’
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ‘เจ๊ะมูดอ บินเจ๊ะเตะ’ ตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ผู้อาวุโสสูงสุดในคณะเจรจาของฝั่งขบวนการฯ บนโต๊ะพูดคุยสันติสุขเพื่อชายแดนใต้ ได้กล่าววิสัยทัศน์เป็นลำดับสุดท้ายเพื่อปิดงานเสวนาออนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) ซึ่งสำนักข่าว The Motive จัดต่อเนื่อง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน เพื่อนำร่องการเป็นพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consualtation) หนึ่งในสามข้อของกรอบ ‘หลักการพูดคุยทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ’ ที่คู่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการฯ ได้ตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา
และนี่เป็นครั้งแรกที่ขบวนการบีอาร์เอ็นได้แสดงวิสัยทัศน์ภาพอนาคตปาตานีและตอบคำถามของประชาชนในที่สาธารณะ เนื่องจาก ‘เจ๊ะมูดอ’ ได้พูดเป็นภาษามลายูจึงสรุปความตามการแปลของล่ามมีใจความสำคัญดังนี้
ภาพอนาคตปาตานีเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดและคุยกัน โดยไม่สามารถตัดผ่านช่วงเวลาของอดีต ที่ทำให้ความเป็นมา และปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการฉายภาพอนาคตและทิศทางความเป็นไป เพราะภาพอนาคต คือความเป็นอยู่ของประชาชนนั่นเอง และควรเรียนรู้ความเป็นอยู่ของคนมลายูปาตานีที่เคยเป็นเอกราชมาก่อน กว่า 300 ปี ตั้งแต่ ปี 1457 -1750 เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ โดยจะพูดถึง 3 ประวัติศาสตร์สำคัญ ที่คนปาตานี ซึ่งหมายถึงรัฐ หรือดินแดนของคนที่เคยได้เอกราชมาก่อนในช่วงเวลาหนึ่งต้องรู้และตระหนัก
ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น เล่าถึง 3 เหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล คือ (1) ปี 1785 รัฐสยามหรือรัฐไทยปัจจุบัน เข้ามายึดครองปาตานีด้วยกำลังทหาร เรื่องนี้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน มีนักประวัติศาสตร์บันทึกถึงเหตุการณ์ที่ผู้ปกครองนครปาตานีต้องส่งดอกไม้เงินและดอกไม้ทองเป็นบรรณาการให้แก่สยาม (2) ปี 1790 ประวัติศาสตร์การลบเลือนความรู้สึกหรือความผูกพันกับเจ้าผู้ครองรัฐปาตานีในอดีต ซึ่งการลบเลือนประวัติศาสตร์นี้ผูกโยงกับ (3) ปาตานีถูกรัฐสยามยึดครองโดยสมบูรณ์ ในปี 1902 คนปาตานีเห็นคนสยามผู้ยึดครองเข้ามาทำลายบ้านเมืองของเขา และดินแดนแห่งนี้ถูกยึดครองมาจนถึงปัจจุบัน
“เมื่อตระหนักถึงประวัติศาตร์จะรู้ว่าเราคือใคร และเขา – สยามคือใคร นับตั้งแต่ปี 1905 คนพุทธและคนจีนในแผ่นดินปาตานีก็ถูกยึดครองโดยสมบูรณ์เช่นกัน การถูกยึดครองนี้หมายถึง รัฐสยามหรือรัฐไทย คนเชี้อชาติสยามมายึดครองชนเชื้อชาติปาตานี ด้วยเหตุเหล่านี้ การมาพูดถึงความเป็นอยู่ของชาวปาตานีในอนาคตจะได้เอกราชหรือไม่ จะมืดหรือสว่างอยู่ที่ความอุตสาหะและภาระการแบกรับในหัวใจ หากไม่ใช้ความสามารถ และสิทธิพึงมีพึงได้ของตนเอง จะโทษคนอื่นไม่ได้”
“เพราะเราไม่มีเอกราช ไม่มีประเทศเป็นของเรา ขณะนี้เราจึงเหลือเพียงครอบครัว สถาบันเดียวที่ต้องรักษาภาษามลายูไว้ เพราะเมื่อลูกหลานออกจากครอบครัว เขาก็ถูกกลืนกลายผ่านโรงเรียนสถาบันการศึกษาของรัฐ จึงควรใช้ภาษามลายูพูดคุยกันครอบครัว กับเพื่อนบ้าน และชุมชน ถ้าไม่รักษาภาษาซึ่งเป็นป้อมปราการสุดท้ายไว้ อัตลักษณ์มลายูจะไม่เหลือเลย นอกจากภาษามลายูแล้ว ยังประกอบด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิม จะต้องพูดความจริง ยึดมั่นในเวลา และเชื่อฟังคำสอนของศาสดา”
ผู้อาวุโสของขบวนการบีอาร์เอ็น กล่าวว่า การพูดเรื่องอนาคตต้องพูดความเป็นจริง ต้องพูดประวัติศาสตร์ และการเมืองที่เป็นจริง ปัญหาการเมืองของชาวปาตานี คือการถูกยึดครอง ไม่ใช่เรื่องปัญหาเศรษฐกิจหรือความยากจน ต้องเข้าใจและตระหนักในสิ่งนี้ มิฉะนั้น จะหาทางออกจากการเมืองไปสู่ภาพอนาคตแท้จริงไม่ได้ ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาทางการเมืองกับรัฐบาลสยามหรือรัฐบาลไทย จึงตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อมีโอการได้พูดประเด็นการจำกัดอำนาจของทหารที่ควบคุมการเมืองและอำนาจในปาตานี หวังว่าในอนาคตจะได้รับแนวทางการแก้ปัญหาที่มีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับ
“..ดังนั้น ภาพในอนาคตของปาตานี คือความต้องการปกครองด้วยมือของคนปาตานีเอง”
“การปกครองตนเองของปาตานีในอนาคต ต้องมีรัฐสภาเป็นของเราเอง มีกฎหมายของเราเองทุกด้าน สำหรับหน่วยงานและองค์ประกอบต่าง ๆ ของรัฐสภาต้องผ่านการคัดเลือกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นี่เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ และสิ่งที่ต้องทำขั้นต่อไป คือการกำหนดชะตากรรมตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิของทุกเชื้อชาติ 2 ประเด็นนี้ต้องพูดคุยกับรัฐบาลไทย เพื่อกำหนดอนาคตของปาตานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างความเชื่อใจระหว่างกัน เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติจริงในดินแดนปาตานี”
ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น อธิบายเหตุผลที่เข้าไปเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยว่า เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของบีอาร์เอ็น สิ่งที่จำเป็นต้องย้ำคือจุดยืนการปกครองตนเองนั้น ต้องมีรัฐสภาปาตานี ต้องมีศาลของตัวเองและผู้แทนรัฐสภาจากการเลือกตั้งของตัวเอง ทำไมต้องมีรัฐสภาปาตานี เพราะข้อตกลงที่เรียกร้อง คือ การเคารพศักดิ์ศรีระหว่างกัน เพื่อเคารพประวัติศาสตร์บาดแผล และให้ชาวปาตานีกลับไปเป็นเชื้อชาติที่มีศักดิ์ศรี
ส่วนเรื่องเขตแดนการปกครองของปาตานีนั้น ผู้อาวุโสขบวนการบีอาร์เอ็น ขยายความว่า ถ้าในอนาคตได้ปกครองตนเอง จะยึดเขตดินแดนภายใต้สนธิสัญญาแองโกล-สยาม ที่ระบุไว้ในปี 1909 นับตั้งแต่สยามทำสัญญากับอังกฤษ นั่นคือบางพื้นที่ของสตูล และบางส่วนของสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นดินแดนที่เรียกร้องในอนาคตและได้หยิบประเด็นนี้พูดคุยบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ขอย้ำอีกครั้ง ชนชาติปาตานีต้องมีรัฐสภา ศาล ผู้แทน รัฐมนตรี ที่ถูกคัดเลือกโดยประชาชนปาตานี (3) จะให้ความเคารพดูแลคนปาตานีโดยภาพรวม ให้มีอิสระในการนับถือศาสนาและปฏิบัติตามความเชื่อ (4) ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะต้องมีการรับรองอย่างเสมอภาคในพื้นที่แห่งนี้
เจ๊ะมูดอ เล่าว่า การพูดคุยครั้งต่อไป คือครั้งที่ 5 การพูดคุยสันติภาพ 4 ครั้งที่ผ่านมาใช้เวลาไปหลายปี ด้วยเสียเวลาไปกับโควิด-19 ระบาดไปสองปีกว่า ทำให้ไม่สามารถเดินทางติดต่อข้ามแดนกัน หรือมีข้อตกลงบางประการ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ในดินแดนปาตานี เหมือนที่หลายคนรับรู้ข่าวสารอยู่แล้ว และจากความคืบหน้าในกรอบเอกสารที่เรียกว่า ‘หลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ’ (General Principle on Peace Dialogue Process) ที่เห็นร่วมกันกับตัวแทนของรัฐบาลไทย จะมีการแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน ว่าการปกครองตนเองของปาตานี คือรูปแบบการปกครองในอนาคต ที่ทำให้เราสามารถครองตนด้วยอัตลักษณ์คนมลายูปาตานีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลามและต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารการกิน
ส่วนประเด็นเศรษฐกิจ จากการพูดคุยและข้อเสนอของผู้คนในเวทีภาพอนาคตปาตานี ยืนยันว่าดินแดนแห่งนี้ทรัพยากรสมบูรณ์ มีทั้งภูเขา ทุ่งนา แม้น้ำ ทะเล ในอนาคตทรัพยากร ทรัพย์สินเหล่านี้ และภาษีต่าง ๆ เป็นพื้นฐานการปกครองตนเองในอนาคต โดยให้ยึดตามข้อตกลงที่ออกโดยรัฐสภาปาตานีในอนาคต
จากนั้น เจ๊ะมูดอ ผู้อาวุโสของขบวนการบีอาร์เอ็นได้ตอบคำถามวิทยากรและประชาชน มีใจความสำคัญดังนี้
- เขาในนามตัวแทนฝ่ายขบวนการได้ติดตามเสวนา “ภาพอนาคตปาตานี” ทั้ง 7 คืน ในฐานะคนปาตานีขอให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักเสมอว่า ‘เราเป็นชาวปาตานีถูกยึดครองจึงต้องแก้ปัญหาที่การยึดครอง และแก้ปัญหาที่เกิดจากประวัติศาสตร์ และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นปัจจุบัน’ ส่วนประเด็นต่าง ๆ ที่นำเสนอรับฟังและเห็นด้วย พวกเราต้องรวมกันเป็นหนึ่ง สนับสนุนหนุนเสริมไม่ว่ามืดหรือสว่างขึ้นอยู่กับมือของชาวปาตานีไม่ใช่มือของคนอื่น
- ยืนยันว่า ทางเลือกแรกของขบวนการบีอาร์เอ็นคือ เอกราช เมื่ออยู่ในขั้นตอนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยจึงอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ คือทางเลือกที่สอง การปกครองตนเอง ซึ่งหลังจากขั้นตอนนี้ จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติเพื่อเอกราช ซึ่งในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ยอมรับอัตลักษณ์มลายูและ ‘ความเป็นประชาคมปาตานี’ ซึ่งเป็นการยืนยัน ‘ตัวตนของประชาคมปาตานี’ เกิดขึ้น ต่อไป, ในบัตรประจำตัวประชาชนจะมีการระบุเรื่องเชื้อชาติมลายูได้ นั่นคือการยอมรับประชาชนไทยเชื้อสายมลายู เพราะฉะนั้น ตามแนวการเมือง ณ ปัจจุบัน เริ่มจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่เป็นเอกราช ไม่ใช่การลดเป้าหมายการต่อสู้ นี่เป็นการแสวงหาทางออกที่ยั่งยืน
- การเมืองในความหมายของขบวนการบีอาร์เอ็นต้องแบ่งแยกให้ชัด ระหว่างคนปาตานีและการเมืองปัตตานี ถ้าคนปาตานีเลือกตั้งในเวลาปัจจุบัน นั่นคือคนปาตานีกับการเมืองไทย ถ้าเป็นการเมืองปาตานี คนปาตานีต้องเลือกตั้งตัวแทนในรัฐสภาปาตานี ถ้าเข้าใจสิ่งนี้จะไม่สับสนและวางท่าทีในพื้นที่ได้ถูกต้อง
- การนิยาม ‘คนปาตานี’ อิงจากประวัติศาสตร์การถูกยึดครองเมื่อปี 1909 ดังนั้น จะมีคนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเสียดินแดนที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปาตานี หากใครไม่มีความรู้สึกร่วมในประวัติศาสตร์ครั้งนั้น แต่อยู่ในดินแดนปาตานีก็ถือว่าเป็นคนปาตานีด้วย ซึ่งการเจรจาที่ผ่านมา คำว่า ‘ประชาคมปาตานี’ (Community Patani) ที่มีในเอกสารการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ก็หมายถึง คนมลายูปาตานี คนพุทธสยาม คนจีน และคนที่นับถือศาสนาอื่น ไม่ว่ามีมุมมองทางการอย่างไร รวมทั้งคนนอกพื้นที่ที่มาแต่งงานกับผู้หญิงปาตานี ก็ถือว่าเป็นคนปาตานีในเงื่อนไข สิ่งที่ต้องการคือ การพูดถึง ‘ประชาคมปาตานี’ สามารถพูดแลกเปลี่ยนเป็นวงกว้างได้และไม่ผิดกฎหมาย สองฝ่ายคู่เจรจามีความเข้าใจตรงกันในจุดนี้
- ย้ำว่าจะต้องมีรัฐสภาปาตานีในอนาคต ก่อนเป็นเอกราช แง่นี้ ก่อนมีรัฐสภา จะต้องมีผู้แทนประชาชน และพรรคการเมืองก่อน และขบวนการบีอาร์เอ็นไม่ใช่พรรคการเมืองจึงตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ คนที่จะพูดเรื่องนี้ได้จะต้องเป็นคนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ส่วนบีอาร์เอ็นจะเป็นพรรคการเมืองในอนาคตหรือไม่ คำถามนี้ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลไทย “เราอาจต้องพูดคุยกันรัฐบาลไทยในอนาคต ยอมหรือไม่ว่า คนปาตานีมีเชื้อชาติที่ต้องปกครองตนเอง ปาตานีต้องมีผู้แทนเพื่อส่งไปรัฐสภาไทย และรัฐสภาปาตานี”
- ประเด็นที่มีคนกังขาการเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย เพราะลดธงเรื่องเอกราชแล้วนั้น ได้ยืนยันเรื่องนี้ชัดเจนหลายครั้งแล้ว การพูดคุยนั้น, กรอบกฎหมายมี 2 ระดับ คือรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ยอมรับกันเป็นสากล “การกำหนดชะตากรรมตนเอง” สอดคล้องกับหลักการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน (Right to Self Determination) ในข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) ระบุว่าทุกเชื้อชาติที่ถูกยึดครอง ใช้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมในการขอใช้สิทธิคืนดินแดนได้ แต่รัฐไทยไม่ได้ปฏิบัติตามกติกาสากล ซึ่งคนมลายูที่อื่นทั่วโลกได้รับคืนดินแดนหมดแล้ว ดังนั้น การพูดคุยจึงเป็นตามลำดับขั้นตอน คือการได้ปกครองตนเองก่อน จากนั้น เข้าสู่กระบวนการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
- ต่อให้เป็นรัฐบาลใดไม่ว่าจะเป็นรัฐทหารหรือพลเรือน จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม เราจะเจรากับคนที่ยึดครองคือรัฐบาลสยามหรือรัฐบาลไทยในปัจจุบัน ถ้าตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของเรา และนำไปสู่การชนะทั้งสองฝ่ายอย่างมีศักดิ์ศรี
- แง่นี้ ไม่ได้หมายถึงการชนะที่สูญเสียทั้งสองฝ่าย แต่ต้องเป็นที่พึงพอใจทั้งสองฝ่าย อย่างน้อยชาวปาตานีต้องปกครองตนเอง มีรัฐสภา ศาล ศาลชารีอะห์ และกฎหมายของเราเอง เช่นที่อังกฤษถอนตัวไปจากมาลายา (มาเลเซียในปัจจุบัน) และรัฐกลันตันเข้าร่วมกับรัฐมลายา จึงออกกฎหมายให้มีการเลือกตั้งภายในของรัฐกลันตันเอง นี้คือตัวอย่างที่รูปธรรรม โดยหวังว่าฝ่ายการเมืองของไทยต้องควบคุมฝ่ายทหารได้ มิฉะนั้น การแก้ปัญหาไม่สามารถสิ้นสุดลงได้ง่าย ทำให้ต้องต่อสู้ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน
- ตัวชี้วัดการเมืองนำการทหาร หรือหนึ่งในกรอบ ‘หลักการทั่วไปฯ’ ระบุถึงการลดการใช้ความรุนแรง ถ้าต้องการลดอำนาจทางทหาร ต้องดูว่ากฎหมายที่รองรับให้ทหารสามารถใช้อำนาจเชิงปฏิบัติการได้อยู่ที่ไหน และใครเป็นผู้ใช้อำนาจ ดังนั้น เบื้องต้นให้ยกเลิกกฎอัยการศึกก่อน หากมีกฎอัยการศึกในพื้นที่แสดงว่าอำนาจทหารยังนำการเมือง และหลังการเจรจามีการถอนทหารระดับนายพลออกไปเท่าใด เหล่านี้ต้องแสดงความเชื่อมั่นให้เห็นในโต๊ะพูดคุย อย่างไรก็ตาม อำนาจทางกฎหมายที่มอบให้ทหารเหล่านี้มาจากรัฐสภา เพราะฉะนั้น ยืนยันว่า การสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่การลดความรุนแรง แต่คือนัยของการลดปฏิบัติการทหารทั้งสองฝ่าย
- หากฝ่ายไทยไม่ลดอำนาจทางทหาร ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นก็จะไม่ลดปฏิบัติการทางทหารเช่นกัน นี่คือแนวทางการเจาจราที่ยอมรับกันทั่วโลก
- เราเป็นผู้อาวุโสยินดีที่เยาวชนคนรุ่นใหม่แต่งตัวตามอัตลักษณ์มลายูออกมาชุมนุมกัน พราะนั่นคือการสืบทอดอัตลักษณ์จากอดีต บรรพบุรุษเห็นจะดีใจว่าลูกหลานสามารถสืบทอดอัตลักษณ์วัฒนธรรมของคนปาตานี เป็นอัตลักษณ์ที่ต้องรักษาไว้ เพราะคนปาตานีไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง
- ส.ส. ที่ทำงานในพื้นที่คือตัวแทนของชาวปาตานีี มีภาระหน้าที่ในการสะท้อนเสียงของคนในพื้นที่ เมื่อเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ต้องออกกฎหมายบางอย่างที่เป็นประโยชน์ ปลดปล่อยเงื่อนไขจากการถูกยึดครองจากรัฐไทย ถ้าคนปาตานีได้รับความเดือนร้อน จะต้องอยู่ข้างหน้าไม่ใช่อยู่ข้างหลัง เราไม่มีผู้นำแล้ว เพราะฉะนั้น ส.ส. ควรเป็นผู้นำของชาวปาตานีที่จะส่งเสียงความต้องการปาตานี แม้ในความเป็นจริงจะมี ส.ส.ไม่มากนัก แต่ก็ความมานะพยายามที่ต้องแบกรับไว้
- ส่วนเรื่องโครงสร้างของรัฐสภาปาตานีนั้น จะตอบรายละเอียดมากขึ้น หลังจากมีการปรึกษาหารือกับสาธารณะแล้ว ทั้งนี้การรับฟังความเห็นจากสาธารณะของขบวนการบีอาร์เอ็น จะต้องเป็นการรับฟังความเห็นร่วมกันจากทุกฝ่าย ไม่ใช่มาจากคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ฝ่ายเดียว และคนเข้าร่วมการพูดคุยสาธารณะจะต้องไม่ผิดกฎหมาย แต่เรื่องนี้รัฐบาลไทยย้ื้อเวลาอยู่ เมื่อใดก็ตามมีการทำสัญญาหยุดยิงหนึ่งเดือน ก็ควรเปิดพื้นที่รับฟังสาธารณะหนึ่งเดือน หากหยุดยิง 3 เดือนก็ควรรับฟังความเห็นสาธารณะ 3 เดือน ทั้งนี้ การไม่ยอมลงนามในเอกสาร ‘หลักการทั่วไปฯ’ แล้วจะสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันได้อย่างไร
- ความเดือดร้อนของประชาชนในปาตานีปัจจุบันคือ การที่คนปาตานีไม่มีเชื้อชาติเป็นของตนเอง
- สุดท้าย ขอขอบคุณทุกคนที่อยู่ในวงเสวนาภาพอนาคตปาตานีครั้งนี้ โดยเฉพาะ The Motive ผู้จัดเสวนา 7 วัน 7 คืน ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นปาตานีในอดีต ครั้งเมื่อกษัตริย์ประกาศเป็นรัฐอิสลาม มีการฉลองกันเจ็ดวันเจ็ดคืน อยากให้ลูกหลานได้สัมผัสกับบรรยากาศการเฉลิมฉลองเช่นเหตุการณ์นั้น การจัดเสวนานี้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในการชวนประชาคมปานตานีแสวงหาทางออกจากปัญหา และอยากให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรที่มีอยู่ในดินแดนปาตานี การที่รัฐบาลไทยจะทำอะไรควรได้รับความเห็นจากคนปาตานีก่อน เพราะการดำเนินการตามประชาธิปไตยต้องฟังเสียงของประชาชน
สำหรับ ‘เจ๊ะมูดอ บินเจ๊ะเตะ’ เป็นผู้อาวุโสสูงสุดจากขบวนการบีอาร์เอ็น 7 คนในคณะเจรจาครั้งนี้กับรัฐบาลไทย และเขามาเป็นหนึ่งในคณะเจรจาเพราะได้รับการแต่งตั้งจาก “หัวหน้าคณะบริหาร” (Ketua exsekutif) ของขบวนการฯ เดิมที่เป็นคนในหมู่บ้านตะมะยูง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
ติดตามการสรุปเนื้อหาจากเวที “ภาพอนาคตปาตานี ภาพอนาคตชายแดนใต้” กับ The Active ได้ทุกวัน ผ่าน #SCENARIOPATANI https://theactive.net/topic/scenario-patani/