2 เดือนเสร็จ ! ร่างพ.ร.บ.กรุงเทพฯ ยกระดับเมืองแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ

เตรียมเสนอ ก.มหาดไทย หลังฉบับเดิมบังคับใช้มากว่า 40 ปี ไม่ทันปัญหาเมืองที่เติบโต ภาคประชาชน ชี้ กระจายอำนาจ ช่วยให้การบริหาร เงิน งาน คน มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันนี้ (17 พ.ค.68) กรุงเทพมหานคร จัดเวทีรับฟังรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 หรือ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ภายในงาน BKK EXPO 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2568 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความสำคัญของเวทีในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปี ของทีมบริหาร กทม. ในชุดของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เป็นสิ่งที่แก้ได้ยากให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งระบุปัญหาทั้งหมดในเว็บไซต์ 2528.bangkok.go.th  จำนวน 13 เรื่อง เช่น ทำไมฟุตพาททำแล้วต้องมาขุดอีก ถนนทำแล้วทำอีก ปัญหาร้องเรียนแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊กจอดกีดขวางไม่สามารถไล่ได้ ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งหลายอย่างเป็นเรื่องที่ กทม.อยากจะแก้ไขแต่ทำไม่ได้ จึงนำเสนอให้ประชาชนเห็น 

นอกจากนี้ กทม.ยังนำข้อเสนอที่ฝ่ายบริหาร และทีมสำนักกฎหมายร่างเป็นประเด็นปัญหา และแนวทางแก้ไขต่อร่างฯ ให้ประชาชนได้ติดตาม พบว่ามีผู้เข้ามาตอบความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งปัจจุบันเว็บไซต์เปิดมาเกือบ 2 เดือนแล้ว มีกว่า 15,900 ความคิดเห็น ส่วนใหญ่ 80-90% เห็นด้วยกับข้อเสนอที่กรุงเทพฯ เสนอ แต่มีความคิดเห็นอื่นๆ เช่น เห็นว่า 13 ปัญหายังไม่มากพอต้องการเสนอปัญหาอื่น ๆ อีก 5,300 ความคิดเห็น ซึ่ง กทม.รวบรวมไว้ในเว็บไซต์ทั้งหมด แต่ผู้ว่าฯ กทม. มองว่าความเห็นที่ได้ทางออนไลน์ยังไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนภายในงาน BKK EXPO 2025 เพื่อรับฟังความเห็นเพิ่มเติม

“นี่คือก้าวสำคัญในรอบ 40 ปีของกรุงเทพมหานคร เราอยู่กับกฎหมายนี้ในขณะที่บ้านเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นเราต้องขยับไปข้างหน้า จึงอยากจะให้ประชาชนเป็นผู้ร่วมกันร่างกฎหมายนี้ด้วยกันกับกรุงเทพมหานคร”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

สำหรับกระบวนการในวันนี้ แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 2 กลุ่ม ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการแสดงความเห็นภายใต้โจทย์ 5 ประเด็น ได้แก่

  • อำนาจหน้าที่ ส่วนใหญ่ กทม. ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่างจึงอยากที่จะเพิ่มอำนาจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ขอทาน คนไร้บ้าน ที่ไม่มีอำนาจในการจัดการ หรืออำนาจในการจัดเก็บรายได้ที่ควรจะเพิ่มมากขึ้น เช่น ภาษีน้ำมัน บุหรี่ หรือค่าธรรมเนียมโรงแรม ที่ยังไม่สามารถเก็บได้
  • การปกครอง กทม.ควรมีการปกครองในระดับ 2 ชั้นหรือไม่ ระดับบน คือ ผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่ง กทม.มีพื้นที่กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร หลายเรื่องผู้ว่าฯ กทม.ลงไปดูแลได้ไม่ทั่วถึง จึงควรมีระดับล่างที่เป็นสมาชิกสภานครบาลเขต หรือไม่ ซึ่งจะช่วยเข้ามา ดูแลบริหารจัดการประชาชนในพื้นที่โดยตรง
  • สภาพลเมืองเขต ให้คำปรึกษา แนะนำสำนักงานเขตในการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเอง หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบว่าการบริหารของสำนักงานเขตเป็นเช่นไร
  • งบประมาณ ประชาชนที่มีความต้องการในกิจกรรม โครงการต่างๆ ในพื้นที่ของตัวเอง ควรมีส่วนเข้ามาเสนอโครงการ หรือกิจกรรมจัดสรรงบประมาณในการพิจารณางบประมาณ ทั้งในระดับเขต ระดับกรุงเทพฯ หรือไม่
  • การทุจริต การตรวจสอบประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริต เป็นเครือข่ายหนึ่งของ กทม.ซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ซึ่งหากให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ช่วยพัฒนากรุงเทพฯ

ในช่วงท้ายทั้ง 2 กลุ่ม ร่วมนำเสนอข้อคิดเห็นต่อทั้ง 5 ประเด็น โดยทั้ง 2 กลุ่มเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ เนื่องจาก กทม.ต้องรับผิดชอบหลายเรื่อง เช่นเดียวกับภาษีที่จะเก็บได้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างเต็มที่ สภาพลเมืองเขตที่มีอำนาจในการดูแลพื้นที่ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการ กิจกรรมในพื้นที่ของแต่ละเขต การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อความโปร่งใสในการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาให้ กทม.น่าอยู่ ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

สำหรับความเห็นในเว็บไซต์ และเวทีครั้งนี้ กทม.จะนำมารวมไว้ในร่างฯ พ.ร.บ.กรุงเทพ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ก่อนเสนอไปที่กระทรวงมหาดไทย จึงจะนับเป็นกระบวนการที่ 1 เพื่อทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active