ปีนี้เริ่มนำร่อง 9 จังหวัด “เมาแล้วขับ จับขังจริง” ในช่วง 11-17 เม.ย.นี้ พบสถิติ ปัญหาดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุหลักที่ทำเกิดการเสียชีวิตช่วงสงกรานต์ ยกเว้นปี 2563 ที่มีมาตรการ lock down ห้ามขายเหล้า แต่เมื่อผ่อนปรนให้มีการขายเหล้าเป็นปกติ ทำให้เมาแล้วขับกลับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในปีนี้คาดว่าปัญหา เมาแล้วขับจะกลับมาเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์
วันนี้ (12 เม.ย.) มยุรี จามิกรานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ได้ มอบนโยบายเรื่อง กำหนดโทษคดีเมาแล้วขับ โดยการกักขังไม่รอการลงโทษระหว่างวันที่ 11–18 เมษายนนี้ โดยเริ่มมาตรการนำร่อง สงกรานต์ 2565 นี้ให้ศาลในเขตอำนาจของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 6 ซึ่งมีเขตอำนาจ 9 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร ตาก เพรชบูรณ์ และนครสวรรค์ เริ่มใช้มาตรการนี้ก่อนซึ่งโทษเมาแล้วขับ จะมีตั้งแต่เบาสุดคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ไปจนถึง สูงสุด จำคุก 3-10 ปี กรณีเมาแล้วขับ จนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ก่อนหน้านี้มีการเก็บสถิติ จะพบว่าแต่ละเทศกาลสงกรานต์ดื่มแล้วขับจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำเกิดการเสียชีวิตมาโดยตลอด (เฉลี่ยร้อยละ 16-32) ยกเว้นในปี 2563 ที่รัฐมีมาตรการ lock down เคอร์ฟิว และห้ามขายเหล้า ส่งผลให้เมาขับเป็นสาเหตุเสียชีวิตร้อยละ10 แต่เมื่อผ่อนปรนให้มีการขายเหล้าเป็นปกติ ก็พบว่าเมาขับกลับเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นร้อยละ 21.5 ของการเสียชีวิต ดังนั้น ในปีนี้คาดการณ์ว่าปัญหา เมาแล้วขับ จะกลับมาเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ 2565
วันนี้เป็นวันแรกของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งขณะนี้ ปภ.ได้รายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากตัวเลขวานนี้ พบว่า เกิดอุบัติเหตุแล้ว 237 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 26 คน บาดเจ็บ 238 คน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.91 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.94 ขณะที่ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.90 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 14 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี 3 คน
ส่วนการจัดตั้งจุดตรวจหลักช่วงเทศกาลสงกรานต์จัดตั้งแล้ว 1,902 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,343 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 350,748 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 64,343 คน มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 18,275 คน ไม่สวมหมวกนิรภัย 17,748 คน