2 ปีบังคับใช้ เพิ่มโทษเมาแล้วขับทำผิดซ้ำ ยังพบช่องโหว่

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายยื่นข้อเสนอ ผลักดันบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น ขณะเหยื่อเมาแล้วขับ เสนอเพิ่มโทษหวังคนเมาแล้วขับเกรงกลัว พร้อมเพิ่มโทษปรับสูงขึ้น เพื่อนำเงินมาชดเชยเยียวยาเหยื่อ

วันนี้ (7 ก.ย.2567) เข้าสู่ปีที่ 3 ของการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มโทษ เมาแล้วขับ กระทำผิดซ้ำ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2565 ซึ่งกำหนดว่า หากมีการทำผิดข้อหาเมาแล้วขับภายใน 2 ปี นับตั้งแต่กระทำผิดครั้งแรก ต้องเพิ่มโทษ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท ที่สำคัญศาลจะลงโทษจำคุกพร้อมปรับด้วยเสมอ

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนจาก “ดื่มแล้วขับ” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทย จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ 284,253 ราย เฉลี่ยปีละ 56,850 ราย มูลค่าความสูญเสีย 3.7 แสนล้านบาท

โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เฉลี่ยถึง 4,519 ราย ผลกระทบสำคัญคือ “เหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ” มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ มากถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย จำเป็นต้องเร่งมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ครอบคลุม และลงโทษผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะความผิดซ้ำ

หลังจาก สสส. ร่วมกับภาคี สร้างเครือข่ายขับเคลื่อน ทั้งในระดับนโยบาย และรณรงค์ในพื้นที่ ผลักดันข้อกฎหมายดื่มแล้วขับ และกระทำผิดซ้ำ บูรณาการทำงานทุกภาคส่วนวิเคราะห์หาสาเหตุ ที่สามารถเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นได้ในอนาคต

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส.

โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ออกเป็น 3 ระยะ

1. ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน ออกแบบระบบตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมออกแบบระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกัน ตรวจสอบประวัติกระทำผิดซ้ำ ประชาสัมพันธ์ผลการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง

2. ระยะกลาง ภายใน 1 ปี ผลักดันด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์อย่างน้อย 15,000 เครื่อง พัฒนาระบบการตรวจสอบ และยืนยันบุคคลผ่านลายนิ้วมือออนไลน์ทั่วประเทศ

3. ระยะต่อเนื่อง มากกว่า 1 ปี ผลักดันเพิ่มโทษสร้างความเกรงกลัวไม่ให้กล้ากระทำผิดซ้ำ สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี นำปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายที่ตรวจวัดได้ในแต่ละระดับมาเป็นบทกำหนดโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับ

นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ

นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีเหยื่อจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาล หลายคนสูญเสียอวัยวะ เสียโอกาสในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่ตนเองไม่ได้ก่อ เหยื่อหลายรายไม่ได้รับเงินเยียวยา ถึงเวลาต้องวางแนวทาง ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากดื่มแล้วขับที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม

กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำในปัจจุบันบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่ยังไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับ ภาคประชาชน ยังมีผู้กล้ากระทำผิดซ้ำ การเพิ่มโทษ และความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ที่เคยกระทำผิดเมาแล้วขับ ไม่กล้าเสี่ยงและรับโทษที่รุนแรง

การแก้ปัญหาอุบัติเหตุดื่มแล้วขับต้องเสริมด้วยระบบการจัดการ และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น มีเจ้าภาพหลักที่ค่อยกำกับตรวจสอบอย่างต่อเนื่องจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเกรงกลัวในการกระทำผิดกฎหมาย” ประกอบด้วย 1. ไม่รอดในการจับกุมเมื่อกระทำผิด 2. ต้องถูกลงโทษหนักในทุกครั้งทุกกรณี

ปัจจุบัน “กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่มีการบังคับใช้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี และถึงเวลาที่ต้องยกมาตรการให้เข้มข้นเพิ่มขึ้น ด้วยระบบการจัดการและเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการดื่มของสังคมไทย

อิสรีย์ เอก ธันย์ชิตากร ผู้เสียหายเหตุเมาแล้วขับ

อิสรีย์ เอก ธันย์ชิตากร ผู้เสียหายเหตุเมาแล้วขับ กล่าวว่า หลังประสบอุบัติเหตุจากถูกคนเมาชนทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป พิการทั้งตัวระบบขับถ่ายเสียหมด เสียค่ายา ค่ารักษา เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 7 แสนบาท ขณะแอดมิดในโรงพยาบาลใช้เวลากว่า 4 -5 เดือน ค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่โรงพยาบาล ตกเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาทหลังจากนั้นก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลตลอด มีค่าใช้จ่ายกว่า 1 หมื่นบาท จนถึงตอนนี้ก็ 23 ปีแล้ว

ค่าจ้างคนดูแลเดือนละหมื่นกว่าบาท ค่าใช้จ่ายรายวันแม้กระทั้ง “การขับถ่าย” ก็ต้องจ่ายอย่างน้อยๆ ครั้งละ 50 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่คุณอิสรีย์ หรือ คุณหมึก จ่ายมาตลอดตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ทำให้ ต้นคอหัก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ค่าใช้จ่ายขนาดนี้ อาจมองว่า คุณหมึกจะได้รับการเยียวยาจนสามารถอยู่ได้ แต่จริงๆแล้วได้รับเงินเพียง 8 แสนบาท เป็นจำนวนที่เทียบไม่ได้ กับการสูญเสียงาน รายได้ และต้องเป็นคนทุพลภาพแบบไม่มีทางเลือก

จึงเรียกร้องให้ มีการแก้ไขกฎหมายให้มีบทลงโทษคนเมาแล้วขับรถรุนแรงมาก จนคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่กล้าขับรถแบบเด็ดขาด และมีค่าปรับที่สูง เพื่อนำส่วนหนึ่งมาชดเชยให้ผู้เสียหายมากขึ้นกว่านี้

ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญ ให้นายนิกร จำนง คณะกรรมการพิจารณาการศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา

ล่าสุดศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ และ ภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับของไทย อาทิ มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและเห็นโอกาสสำคัญที่ครบรอบ 2 ปี บังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ

โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญต่อ ให้นายนิกร จำนง คณะกรรมการพิจารณาการศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา ร่วมผลักดัน ติดตาม สนับสนุน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมกันและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์  การผลักดันเครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลักดันการเพิ่มโทษเพื่อสร้างความเกรงกลัวให้กับภาคประชาชนไม่ให้กระทำผิดซ้ำ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active