ชัชชาติ กำชับดูแลอย่างใกล้ชิด หน้ากาก-ชุดนักเรียน ด้านมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ แนะ กทม. เร่งเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ชั่วคราว
วันนี้ (22 มิ.ย.65) The Active ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายภายในชุมชมพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุม กทม. หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 65 เสียหาย 30 หลังคาเรือน และมีผู้ประสบภัยกว่า 100 คน ย้ายไปพักอาศัยชั่วคราวอยู่ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบ่อนไก่ (ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่)
ทั้งนี้ หนึ่งในจุดที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ แต่จำเป็นต้องปิดตัวลงชั่วคราว คือ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ สังกัด กทม. เวลานี้เต็มไปด้วยข้าวของ เครื่องใช้ที่ชาวบ้านนำมาฝากไว้
ปรางค์วิไล จุลรัษเฐียร อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กภายในศูนย์แห่งนี้ เล่าว่า ในวันเกิดเหตุช่วงบ่าย เด็ก ๆ 10 คน อายุ 2-4 ปี กำลังนอนกลางวัน เมื่อทราบว่ามีเพลิงไหม้ในชุมชน จึงแจ้งให้ผู้ปกครองมารับกลับ แต่มีบางส่วนที่ผู้ปกครองออกไปทำงาน จึงต้องพาเด็กๆ ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย โดยในเวลานี้เป็นห่วงพัฒนาการของเด็ก ๆ เพราะศูนย์ฯ เพิ่งกลับมาเปิดหลังโควิด-19 ได้ 1 เดือน
“มีเด็กหนึ่งคน ที่บ้านถูกเพลิงไหม้ เราก็เข้าไปสอบถามผู้ปกครองว่าขาดเหลืออะไรบ้าง ส่วนที่กระทบแน่ ๆ ในช่วงที่ศูนย์ปิดก็คือผู้ปกครองยังต้องไปทำงาน แต่ไม่มีสถานที่รับเลี้ยงเด็ก รวมถึงความต่อเนื่องในการเรียนรู้ด้วยที่เราจะต้องให้ความสำคัญ”
ปรางค์วิไล จุลรัษเฐียร
ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมและกำลังใจกับผู้ประสบภัยที่ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่ พร้อมระบุว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องเด็กเล็กที่อยู่ในวัยเรียนประสบปัญหาเสื้อผ้าชุดนักเรียนอยู่ในกองเพลิง จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเกรงว่าจะหยุดเรียนนาน ทั้งนี้ ยังคงมีความต้องการหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์, ชุดนักเรียน, เสื้อผ้าเด็ก, รองเท้าเด็ก ในระดับประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษา
The active พูดคุยกับ ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แสดงความกังวลในช่วงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ต้องปิดตัวลงชั่วคราว เนื่องจากบทเรียนในสถานการณ์โควิด-19 พบว่า เพียงแค่ 1 เดือนของเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน จะส่งผลต่อพัฒนาการที่ถดถอย ทั้งด้านสติปัญญา และอารมณ์ การมีอาหารกลางวันที่ถูกหลักโภชนาการ จึงเสนอให้ กทม.เร่งเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ชั่วคราว และยังลดภาระผู้ปกครอง ให้สามารถฝากลูกไว้ในขณะที่ต้องไปทำงานได้
“ทุกวันที่ผ่านไปมีความหมายต่อเด็กๆ อย่างมาก ข้อเท็จจริงคือผู้ปกครองส่วนใหญ่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ คือผู้มีรายได้น้อย บางคนรับจ้างรายวัน หากไม่สามารถฝากลูกเพื่อกลับไปทำงานหาเงินได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ ภาวะเครียด และท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบมาถึงเด็ก”
ศีลดา รังสิกรรพุม
ขณะที่การช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยชั่วคราว ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการให้สำนักงานเขตปทุมวัน คอยอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย และหากจำเป็นต้องอยู่ยาวมากกว่าเดือนจะจัดหาพื้นที่แห่งใหม่ที่มีความพร้อม ด้านผู้ประสบภัยต่างยังคงวิตกกังวลกับแนวทางที่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะได้กลับมาอาศัยอยู่ที่เดิมหรือไม่ ซึ่งยังรวมถึงอนาคตทางการศึกษาของเด็กๆ ด้วย