‘ณัฐชา’ ส.ส.บางขุนเทียน ฉะ เกือกม้าพระราม 2 ถล่ม ไม่ใช่ครั้งแรก ด้าน ‘อธิบดีกรมทางหลวง’ ยืนยัน มีมาตรการความปลอดภัยขณะซ่อมแซม หลัง คานสะพานลอยกลับรถ บนถนนพระราม 2 พังถล่มลงมา
วันนี้ (1 ส.ค. 2565) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ กล่าวถึงอุบัติเหตุสะพานกลับรถบนถนนพระราม 2 ถล่ม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเปิดเผยว่าการก่อสร้างและซ่อมแซมตลอดเส้นถนนพระราม 2 นั้นมีหลายสัญญาโครงการที่ดำเนินการพร้อมกัน ทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาได้รับความยากลำบากมาหลายปี
“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็มีเหล็กหล่นลงมา นี่คือความเสี่ยงของพี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา…เป็นตัวอย่างว่าการไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน ล่าสุด ทราบมาว่าโครงการนี้เป็นการซ่อมของกรมทางหลวงเองด้วยซ้ำ เป็นคนของท่านเอง แต่ท่านกลับดูแลคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการก่อสร้างได้ห่วยมาก”
ด้าน สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธาน กมธ.คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้น พบว่าเป็นสะพานกลับรถบนถนนพระราม 2 ที่รับผิดชอบในการซ่อมแซมโดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ซึ่งแม้ว่าทางกรมทางหลวงจะชี้แจงรายละเอียดการเยียวยาผู้เสียหายแล้ว แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าหน่วยงานรับทราบอยู่แล้วว่าสะพานกลับรถนี้มีปัญหา สมควรได้รับการซ่อมแซม และขณะเกิดอุบัติเหตุก็อยู่ในกระบวนการซ่อมแซม
“แต่การซ่อมแซมเป็นเรื่องระเบียบวิธีทางวิศวกรรม กระบวนการขั้นตอน การควบคุมปัญหาความปลอดภัย แต่ในประเทศเราก็ละเลย ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างเยอะ แต่ตรงนี้เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราปฏิบัติตามหลักวิชาการควรจะต้องมีกระบวนการแก้ไขต่อไป”
สำหรับกรณีนี้ ตนและพรรคก้าวไกลจะติดตามต่อ โดยการเสนอเรื่องนี้เข้าไปใน กมธ.คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อได้รับทราบข้อมูลอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อตกผลึกร่วมกันกับทางหน่วยงานว่า กมธ. จะมีข้อสังเกตเพื่อไม่ให้อุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งอุบัติเหตุเช่นนี้สามารถป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท
‘อธิบดีกรมทางหลวง’ ยืนยัน มีมาตรการความปลอดภัยขณะซ่อมแซม
ด้าน สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วย อภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีฯ ฝ่ายดำเนินงาน แถลงชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า สะพานกลับรถดังกล่าวก่อสร้างเมื่อปี 2536 มีอายุการใช้งานเกือบ 30 ปี การซ่อมแซมเนื่องจากพบว่า สะพานมีความเสียหาย พื้นสะพานของสะพาน 2 ช่วง บริเวณหัวโค้งสะพาน โดยกรมฯ มีแผนซ่อมโดยใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เริ่มปรับปรุงซ่อมแซมเมื่อ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการทำงานโดยกรมทางหลวง ไม่มีบริษัทเอกชน มาเกี่ยวข้องในการซ่อมบำรุงครั้งนี้
ส่วนสาเหตุการทรุดพังลงมา ประเมินว่า อาจเกิดจากการทุบพื้นสะพาน เพื่อเทปูนบนสะพานใหม่ ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว 1 ช่วง ในฝั่งขาออกส่วนขาเข้าทุบพื้นเดิมเสร็จ ช่วงที่เกิดเหตุ นายช่างคุมงาน เตรียมเทพื้นสะพานใหม่ มีการเก็บรายละเอียด แต่คานตัวริม เคลื่อนตัวร่วงลงมา นอกจากนี้ยังคาดว่า ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างสะพานที่เก่า เพราะสร้างมาตั้งแต่ปี 2536 ประกอบกับปี 2547 เกิดเหตุไฟไหม้รถบรรทุก และเปลวไฟ อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวโครงสร้างของสะพาน ดังกล่าวได้
ซึ่งขณะนี้ กรมทางหลวง สั่งระงับการก่อสร้างไว้ก่อน โดยรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่กรมทางหลวงและสภาวิศวกรฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน 1 ชุด เพื่อให้รายงานผลภายใน 14 วัน ซึ่งหากพบว่า เหตุนี้เกิดจากความประมาท บกพร่อง ของ เจ้าหน้าที่ กรมทางหลวง จะมีมาตรการในการดำเนินการตามระเบียบอยู่แล้ว
อธิบดีกรมทางหลวง ยืนยันว่า หลังการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2536 มีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในปี 2547 ที่โครงสร้างสะพาน ได้รับความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ และในครั้งนั้น ทีมงานวิศวกรประเมินแล้วว่า สามารถซ่อมบำรุง เพื่อให้ใช้งานได้อีก และตลอดเวลา มีการตรวจสอบโครงสร้างความแข็งแรงของสะพานนี้ตามวงรอบ โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ แขวงการทางสมุทรสาคร จนกระทั่ง มาถึงการซ่อมบำรุงใหญ่ในวงรอบปีนี้
มาตรการความปลอดภัยขณะซ่อมแซม เช่นการเทพื้น ยกคาน จะต้องมีการปิดการจราจร และยืนยัน มีมาตรฐานป้องกันอุบัติเหตุ มีการปิดกั้นกันวัสดุตกหล่นมาสู่พื้นถนน มีการติดตั้งสัญญาณเตือนระวังการก่อสร้าง แต่เหตุนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของการทำงาน ที่ต้องไปทบทวนมาตรการในอนาคต
อธิบดีกรมทางหลวง ยังยืนยันการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้เสียหาย ที่ได้รับผลกระทบ ทางกรมทางหลวง รับดำเนินการชดใช้ความเสียหายทั้งหมด ทั้งคนงาน และ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ระหว่างเกิดเหตุ กรมทางหลวง จะชดใช้เยียวยาให้ทั้งหมด