กี่ครั้งที่ต้องสังเวย ? สร้างทางยกระดับพระรามที่ 2

ดินนิ่มไม่ใช่ข้ออ้าง! นักวิชาการ จี้ เร่งหาสาเหตุคานถล่มถนนพระราม 2 ย้ำ ต้องตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง ถามหาผู้รับผิดชอบ

จากเหตุการณ์กลางดึกที่ผ่านมา เวลา 02.00 น. โดยประมาณ เกิดเหตุการณ์โครงสร้างเหล็กทางยกระดับพระราม 2 ถล่มท่ามกลางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานกว่า 30 คน เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 5 ราย สูญหาย 2 ราย

โดยจุดเกิดเหตุ คือ โครงสร้างของทางยกระดับ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ดาวคะนอง พบผู้เสียชีวิตเป็นคนไทยจำนวน 3 ราย (วิศวกร หัวหน้าคุมคนงาน และพนักงานบริษัทปูน) และอีก 2 ราย เป็นแรงงานชาวต่างชาติ

อุบัติเหตุซ้ำซากที่เกิดขึ้นบริเวณถนนพระราม 2 เส้นทางคมนาคมสำคัญเชื่อมต่อเมืองหลวงและเส้นทางสายใต้นี้เป็นมหากาพย์มาอย่างยาวนาน

 หากนับตั้งแต่ตอนเริ่มก่อสร้างถนนเมื่อปี พ.ศ. 2513 จนกระทั่งปัจจุบัน มีการปรับปรุง ซ่อมแซมมาโดยตลอด กินเวลายาวนาน 54 ปี และคาดว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่รับฉายาว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” และเกิดอุบัติเหตุนับพันครั้งกับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมเกือบ 300 ราย จึงได้รับอีกหนึ่งฉายาว่า “ถนนกินคน”

วันนี้ (15 มี.ค. 2568) รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ว่า กรณีของอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการถล่มของนั่งร้าน ซึ่งต่างออกไปจากอุบัติเหตุในหลายครั้งที่ผ่านมาที่เกิดจากการทรุดตัวของถนนลงในดินฐานรากหลังก่อสร้างเสร็จ 

ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่บริเวณนี้มีชั้นดินชนิดดินเหนียวอ่อนตกตะกอนใหม่เป็นรากฐาน (จากการที่พื้นที่เดิมเป็นทะเลและน้ำทะเลค่อย ๆ ลดระดับลง) จึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีตะกอนดินเหนียวที่อ่อนและหนาที่สุดแแห่งหนึ่งของไทย

ทางยกระดับ
รศ. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แต่สำหรับเหตุการในครั้งนี้ ไม่ใช่สาเหตุหลักที่จะหยิบยกมาอธิบายได้ เพราะนี่คือการถล่มลงของนั่งร้านที่รับน้ำหนักโครงสร้างด้านบนซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระยะสั้น เป็นคนละกรณีกับการทรุดตัวของถนนพระราม 2 ในระยะยาวดังที่ผ่านมา

โดยวิเคราะห์ว่ามาอาจจากการออกแบบการก่อสร้างที่มีปัญหาและไร้มาตรฐานในการสร้างนั่งร้านดังกล่าว

รศ.สุทธิศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า นั่งร้านที่ถล่มจะมีลักษณะเป็นรากฐานชั่วคราวที่วางบนผืนดิน โดยอาจจะมีแผ่นเหล็กปูทับไว้เพื่อช่วยถ่ายแรง แต่จะไม่มั่นคงแข็งแรงเหมือนเสาหรือโครงสร้างถาวรที่มีการตอกเสาเข็ม

อย่างไรก็ตาม การถล่มลงของนั่งร้านนี้อาจเกิดจากดินที่รองรับน้ำหนักนิ่มเนื่องจากมีเกิดฝนตก หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้

“โดยปกติ การก่อสร้างคานด้านบนทางวิศวกรรมมีหลายเทคนิค หนึ่งในนั้นคือ การมีนั่งร้านค้ำไว้ เพื่อในช่วงที่คอนกรีตยังเป็นของเหลวและไม่เซตตัวดี จะต้องมีนั่งร้านเพื่อการพยุงน้ำหนักของคอนกรีต ซึ่งในกรณีนี้ ปัญหาอาจอยู่ที่การออกแบบนั่งร้าน”

ในทางวิศวกรรม ทุกอย่างต้องมีสาเหตุ

การก่อสร้างนั่งร้านจำเป็นต้องคำนึงถึงทุกปัจจัยในการก่อสร้าง อุบัติเหตุในครั้งนี้ รศ.สุทธิศักดิ์ ชี้ว่า ควรย้อนตั้งคำถามถึงหลักการในการก่อสร้าง ดังนี้

1. มีการคำนวณแบบก่อสร้างอย่างถูกต้องหรือไม่ ?

2. ลำดับการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ? (มีการกระจายน้ำหนักเพื่อรับแรงอย่างเหมาะสม)

3. มีการก่อสร้างตรงตามแบบหรือไม่ ?

4. มีช่างและวิศวกรตรวจสอบความแข็งแรงและคุณภาพของนั่งร้านหรือไม่ ?

5. สภาพนั่งร้านหลังการก่อสร้างเป็นอย่างไร มีการชำรุดอยู่หรือไม่ ?

ซึ่งในทางวิศวกรรมจำเป็นต้องคิดถึงทุกปัจจัยในการก่อสร้างอย่างครอบคลุม ไม่ว่าพื้นดินบริเวณนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างไร ไม่ว่าอ่อนหรือแข็ง

“หากพื้นผิวบริเวณที่ก่อสร้างมีสภาพเป็นดินอ่อนนุ่ม ก็มีเทคนิคการออกแบบมากมายเพื่อแก้ปัญหา เช่น การนำดินมาบีบอัดเพื่อให้ผิวหน้าดินแน่นเพื่อให้วางแผ่นเหล็กหรือนั่งร้านได้ หรือหากมีปัจจัยอื่น เช่น เป็นช่วงที่ฝนตกแล้วดินนิ่มชื้น ก็ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมอยู่ดี”

พระรามที่ 2

ในกรณีดังกล่าว จึงมีข้อเสนอ 2 ประเด็น ได้แก่

  1. ต้องเร่งซ่อมแซมให้เร็วที่สุด หรือมีการหล่อใหม่แล้วเอามาทดแทน เพราะส่วนที่พังลงมากระทบทางด่วนเส้นเก่า เพื่อเร่งคืนเส้นทางการจราจรให้เร็วที่สุด
  2. ต้องมีการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนไหนกันแน่ (การคำนวณ การก่อสร้าง หรือสภาพนั่งร้านหลังก่อสร้างเสร็จ) เนื่องจากผิดพลาดเพียงนิดเดียว ก็จะเกิดการสูญเสียมหาศาล
  3. ต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรคุมหน้างาน วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณโครงสร้างค้ำยันชั่วคราว ฯลฯ

“ในทางวิศวกรรมทุกอย่างต้องมีเหตุผล ทุกบทเรียนบนถนนพระราม 2 ที่เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องมีการแถลงสาเหตุ มีผู้รับผิดชอบ และถอดบทเรียนกันอย่างจริงจังเสียที”

สำหรับ “โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก” เป็นของโครงการทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ต้องการสร้างทางด่วนเพื่อรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพฯ

ข้อมูลจากกรมทางหลวง เผยว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2567 (มกราคม) ถนนพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทั้งหมด 2,242 ครั้ง รวมแล้วมีผู้เสียชีวิต 132 ราย บาดเจ็บ 1,305 ราย โดยในรอบ 5 ปี พบว่าในปี  พ.ศ.2561 มีจำนวนอุบัติเหตุสูงที่สุด คือ 491 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 38 ราย และผู้บาดเจ็บ 268 ราย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active