ภาคประชาชนลุ่มน้ำท่าจีน ยอมรับ เคยหวั่นน้ำท่วมหนัก จากการระบายข้ามจังหวัด อาจส่งผลกระทบหนักกว่าปี 2554 ชี้กลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ เน้นการมีส่วนร่วมจัดการน้ำ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เปิดข้อมูลจริง ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นประชาชนรับมือน้ำท่วม
ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษามูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม เปิดเผยกับ The Active ว่า แม้ปีที่แล้วปริมาณน้ำโดยภาพรวมไม่มากเท่าปี 2554 แต่พบว่าประชาชนบางพื้นที่มีระดับน้ำท่วมสูง เสียหายไม่ต่างจากปี 2554 เพราะหลายจังหวัดเริ่มสร้างคันกั้น ขณะเดียวกันปีที่ผ่านมา ชาวจังหวัดนครปฐมก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมหนัก เพราะเป็นพื้นที่เปราะบางที่ต้องรับทั้งน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน น้ำฝั่งตะวันตก และน้ำจากฝั่งตะวันออกที่เป็นเมืองหลวง ขณะเดียวกันยังมีข้อขัดแจ้งกับจังหวัดรอยต่อสุพรรณบุรี และนครปฐม ซึ่งถือเป็นความไม่เข้าใจ แต่หลังจากที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้ามาจัดการรับฟังความคิดเห็น ในเวทีพัฒนาศักยภาพกลไกในการรับมือภัยพิบัติที่ จังหวัดนครปฐมเพื่อนำไปประเมินผลกระทบและการบูรณาการน้ำร่วมกัน ถือเป็นจุดร่วมที่ดีต่อบทบาทภาคประชาชน
“ถ้าทุกภาคส่วน รู้จักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และมีความเข้าใจกับ ในการจัดการน้ำร่วมกัน เชื่อแน่ว่าจะลดความขัดแย้งได้ ที่สำคัญ การที่จังหวัดนครปฐมที่เป็นจังหวัดรอบนอกเมืองหลวง และยังเป็นพื้นที่รับน้ำเหนือบางส่วนในการปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ ดังนั้นการสร้างการมีส่วนร่วม การเปิดข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ทุกฝ่ายเข้าใจข้อตกลงร่วมกันเพื่อความเป็นธรรม”
ประเชิญ คนเทศ
ที่ปรึกษามูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม ยอมรับปีนี้คาดว่า ปริมาณน้ำจะมากขึ้น 15-18% นั้นหมายความว่า ปีนี้ จ.สุพรรณบุรี กับ นครปฐม จะรับน้ำสูงขึ้น และหนักกว่าเดิม ซึ่งแนวคิดที่จะชวนทั้งรัฐ ราชการ ประชาชน ประชาสังคม มาร่วมกันรับรู้ข้อมูลถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ทุกภาคส่วนมีพื้นที่กลางที่แชร์ประสบการณ์ แชร์ข้อมูล เพื่อปรับตัวอยู่ให้ได้กับภัยพิบัติ เพราะไม่สามารถที่จะหนีน้ำได้ แต่ต้องรับข้อมูลข่าวสาร และต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขด้วยกัน
ไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 2 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยังมีข้อเสนอ จากชาวนครปฐม ว่า แม้ไทยเองเพิ่งเริ่มมี พ.ร.บ.น้ำ โดยให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ และคณะกรรมการลุ่มน้ำมีบทบาท แต่ต้องไม่ลืมว่า กลุ่มอื่น ๆ ที่ผูกพันธ์กับสายน้ำ และทุกภาคส่วน จำเป็นต้องมีพื้นที่กลางที่ปลอดภัย ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม
“ประกอบกับตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ในการจัดทำแผนแก้ไขและป้องกันภาวะน้ำท่วม ซึ่งตามกฎหมาย ต้องจัดทำตาม คณะกรรมการลุ่มน้ำ เราเพิ่งมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มนี้ในปีนี้(2565) ซึ่งเราเริ่มประชุมกันเดือนมิถุนายนครั้งแรก เราทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และในรายละเอียดใส่ในต้องมีเรื่องของการมีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญที่เป็นผู้อยู่ในพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระหว่างลุ่มน้ำท่าจีนกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ฝ่าย”
ไพฑูรย์ เก่งการช่าง
ขณะเดียวกัน ต่อจากนี้ สทนช.จะไปรับฟังความคิดเห็น ทุกลุ่มน้ำ ทั้งลุ่มน้ำป่าสัก, เจ้าพระยา, บางปะกง ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ จะแล้วเสร็จทั้งการประเมินผล เสนอคณะกรรมการลุ่มน้ำ และส่งให้หน่วยงานปฏิบัติต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำและความขัดแย้ง