ระบุไม่ส่งผลกระทบพื้นที่ชุมชน ขณะที่นักวิชาการ เสนอ ตั้งคณะกรรมการด้านความปลอดภัยเขื่อนระดับชาติ รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจหนักขึ้น
จากกรณีอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ถูกน้ำกัดเซาะทำให้บริเวณรอยต่อของทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา (Horse Shoe Spillway) เกิดการทะลุออกของทำนบดินด้านท้าย (Piping) เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด วันนี้ (28 ส.ค.65) ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการชลประทานบุรีรัมย์ และสำนักเครื่องจักรกล ได้เพิ่ม จำนวนเครื่องจักร เครื่องมือ และวัสดุในการแก้ไขปัญหา เพื่อก่อสร้างทำนบชั่วคราว (Coffer Dam) จนสามารถปิดกั้นน้ำได้แล้วในวันนี้ (28 ส.ค.65) พร้อมกับนำกล่องลวดตาข่ายบรรจุหิน(Gabion) มาเสริมความแข็งแรง เพื่อโอบล้อมบริเวณอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา (Horse Shoe Spillway) ที่ชำรุดเสียหายและบริเวณตัวทำนบดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น สำหรับเก็บกักน้ำบางส่วนไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ซึ่งปริมาณน้ำในอ่างฯ ได้ลดลงเหลือประมาณ 3.04 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 40% ของความจุ มีการระบายน้ำลงสู่ลำตะโคงในอัตรา 167 ลบ.ม./วินาที (ลำตะโคงรับน้ำได้สูงสุด 300 ลบ.ม./วินาที) แนวโน้มลดลง ปริมาณน้ำยังอยู่ในลำน้ำ ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำ บริเวณบ้านตลาด บ้านดงยายเภา ตำบลนิคม อ.สตึก และบ้านปอแดง บ้านโนนสำราญ บ้านตะแบง ตำบลหัวฝาย อ.แคนดง ที่ถูกน้ำท่วมขังประมาณ 1,100 ไร่ ปัจจุบันหลายแห่งระดับน้ำลดลงแล้ว
“พื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังมีน้ำท่วม โครงการชลประทานบุรีรัมย์ จะนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประชาสัมพันธ์แจ้งถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว หากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าปริมาณน้ำที่ระบายออกจากอ่างเก็บน้ำลำตะโคง จะลดลงโดยลำดับในระยะต่อไป”
อธิบดีกรมชลประทาน ยังได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 8 และสำนักเครื่องจักรกล ซ่อมแซมทำนบดินที่ชำรุดให้เสร็จโดยเร็ว พร้อมหาแนวทางซ่อมแซมให้มีความมั่นคงถาวร นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้นำสะพานแบรี่ มาติดตั้งบริเวณทำนบดินที่เป็นช่องขาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้สัญจรตามปกติ
สำหรับอ่างเก็บน้ำลำตะโคง ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 7.53 ล้าน ลบ.ม.
นักวิชาการ แนะตั้ง คกก.ตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อนระดับชาติ
ขณะที่ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยมีเขื่อนมากกว่า 5,000 แห่ง ที่อยู่ในการดูแลของกรมชลประทาน ซึ่งแม้เขื่อนใหญ่จะมีการตรวจความปลอดภัย แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่คนของหน่วยงานของตนเองเป็นผู้ตรวจสอบ ดูแลความแข็งแรงกันเอง แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานกลางจากมาร่วมตรวจสอบความปลอดภัยภัยเขื่อนทุกขนาด ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมักใช้โครงสร้างคณะกรรมการด้านความปลอดภัยเขื่อนในระดับชาติ ซึ่งไทยเองยังไม่มี ดังนั้นเพื่อให้ทันกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หนักขึ้นควรผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง