นายกฯ จี้ทำแผน 3 ปี แก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำ รับมือโลกผันผวน

เดินหน้า “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” เตรียมเสนอ ครม. ภายในเดือนสิงหาคมนี้ สั่งกรมชลประทาน เตรียมพร้อมลดความเดือดร้อนประชาชน ขณะที่ อุตุฯ เตือน เหนือ อีสาน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน

วันนี้ (5 ส.ค. 67) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน โดยที่ประชุมได้ติดตามร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ เพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้มอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการ 3 ด้าน

  1. มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดการยกร่างแผนฯ ให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อ ครม. ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และให้ สทนช. รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ

  2. มอบกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงาน เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

  3. มอบ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ นายกฯ ยังมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการดำเนินงาน ทั้งในเรื่องภารกิจการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และการขอใช้พื้นที่ที่เป็นที่ดินของรัฐ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประชุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567
ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน

ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ขณะนี้ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงกันยายน 2567 และมีแนวโน้มต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายไปทั่วประเทศ 

กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝน และปริมาณน้ำท่าจากสถานีโทรมาตร มาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำท่ารายชั่วโมง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรสนับสนุนอื่น ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ขณะเดียวกันยังบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝนปี 67 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

โดยกรมชลประทาน มีแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อป้องกันอุทกภัย ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 3 ปี (ปี 2564 – 2566) ทั้งลุ่มน้ำยม-น่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน จำนวน 3 โครงการ โครงการที่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569 จำนวน 5 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการติดตามเร่งรัดกระบวนการศึกษา จำนวน 2 โครงการ

ขณะที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เน้นย้ำ กรมชลประทานให้เตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องเครื่องจักร เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเดือดร้อนให้ประชาชน

สำหรับสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันนี้ (5 ส.ค. 67)

ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย (150 มม.) ภาคกลาง : สุพรรณบุรี (113 มม.) ภาคตะวันออก : จ.นครนายก (108 มม.) ภาคใต้ : จ.สุราษฎร์ธานี (104 มม.) ภาคเหนือ : จ.น่าน (99 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (69 มม.)

โดยวันนี้ – 8 สิงหาคมนี้ จะมีพื้นที่เสี่ยง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ประกอบด้วย

ภาคเหนือ : จ.แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, ตาก, ลำปาง, พะเยา, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย, หนองคาย และบึงกาฬ

ทั้งนี้ได้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า ร้อยละ 80 โดย จ.เชียงใหม่, พะเยา, น่าน, พิษณุโลก, เลย, หนองคาย และบึงกาฬ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลำน้ำงาว (จ.เชียงราย), แม่น้ำสาย (จ.เชียงราย), แม่น้ำน่าน (จ.น่าน), แม่น้ำยม (จ.แพร่ พะเยา และพิษณุโลก), ลำน้ำปาด (จ.อุตรดิตถ์) และแม่น้ำแควน้อย (จ.พิษณุโลก)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active