ฝนตกหนัก – น้ำท่วมขังหลายจังหวัดภาคใต้ เหตุระบายน้ำยังทำได้ช้า แม้อยู่ใกล้ทะเล สะท้อนการจัดการภัยพิบัติ ต้องให้อำนาจท้องถิ่นประกาศพื้นที่ จัดทำแผนเฉพาะสำหรับจุดเสี่ยงของเมือง
ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในประเทศไทย ขยับตัวลงมาจากพื้นที่ภาคอีสาน และภาคกลาง กำลังเคลื่อนลงสู่พื้นที่ภาคใต้ ส่งสัญญาณผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมขังในหลายเมืองของภาคใต้ ทั้งใน ภูเก็ต สตูล ตรัง รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น “นาสาท” ทำให้เกิดฝนตกด้านทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือจากคำเตือนของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในภาคใต้ 19 – 23 ต.ค. นี้
The Active พูดคุยกับ อริยา แก้วสามดวง ประธานเครือข่ายภัยพิบัติชุมชนตรัง สะท้อนภาพจากในพื้นที่ หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร และเขตเมืองของจังหวัดตรัง ที่จะทำให้เราเห็นภาพการบริหารจัดการ และช่องโหว่ที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงมากขึ้นกว่านี้
“ตรัง” จุดยุทธศาสตร์รับน้ำหลายทาง พื้นที่แอ่งกะทะ
อริยา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันตอนนี้ จังหวัดตรังยังรับมือกับปริมาณฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่คลองชี ซึ่งเป็นปีกของแม่น้ำตรัง รับน้ำมาจากลงมาจากเขานอจู้จี้ ที่เป็นชายแดนระหว่างกระบี่ และตรัง ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ เขาวิเศษ วังมะปราง ท่าสะบ้า รวมถึงท่วมเทือกสวนไร่นาของเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึงขั้นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น บางบ้านเริ่มปรับเป็นบ้าน 2 ชั้นแล้ว และมีอาสาสมัคร ผู้นำท้องถิ่นคอยเฝ้าระวังอยู่ตลอด แต่คาดว่าจะมีน้ำขังไปอีกหลายวัน เพราะน้ำที่ลงมาจากเทือกเขายังเยอะอยู่
“ปัญหาใหญ่จริง ๆ คือ การบริหารจัดการน้ำ ที่ไม่สอดคล้องกับภูมินิเวศลุ่มน้ำ เพราะ เป็นทำกันเป็นจุด ๆ แก้กันเป็นจุด ๆ เราจำเป็นต้องทำผังเมือง และผังน้ำไปพร้อมกัน ถ้าจะรับมือกับลุ่มน้ำตรังให้อยู่ เพราะ ไม่เช่นนั้นการท่วมขังที่นานไป จะทำให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายรุนแรง”
อริยา กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดตรังน้ำท่วมพร้อมจังหวัดอื่น แต่กว่าจะระบายน้ำทั้งหมดใช้เวลานาน เพราะที่ผ่านมาการระบายน้ำไม่ได้มองทั้งระบบ ภูมิประเทศของจังหวัดตรัง จะมีลุ่มแม่น้ำตรัง ที่รับน้ำลงมาจากเทือกเขาบรรทัด ในทิศตะวันออก และน้ำจากทิศเหนือ ที่มาจากต้นน้ำทุ่งสง รวมถึงต้นน้ำของคลองชี และคลองนางน้อยผสมลงมาด้วย ทำให้กลางเมืองตรัง เป็นพื้นที่รับน้ำแบบ “แอ่งกะทะ” เพราะ มีภูเขาล้อมรอบ ทั้งยังมีพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ แหล่งชุมชน ก่อนจะไปลงทะเล การจัดการจึงต้องมองเรื่องผังเมือง และผังน้ำไปพร้อมกัน ถ้าจะมีการขุดคลอง ต้องประเมินด้วยว่าขุดแล้ว จะส่งผลให้พื้นที่อื่นน้ำท่วมด้วยหรือไม่
เนื่องจากตอนนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำตรัง ที่ยังไม่วิกฤต คือ ต.หนองตรุด อ.เมืองตรัง เพราะมีการขุดคลองบายพาสไปแล้ว แต่ไปส่งผลให้ ต.บางรัก มีน้ำท่วมขังอยู่นาน ดังนั้นคลองที่ขุดใหม่ ทำให้น้ำมาตกค้างในอำเภอเมือง การระบายลงทะเล ทำได้ช้า ถ้าเกิดน้ำทะเลหนุน ขึ้นมาอีก จะยิ่งมีปัญหา เป็นแบบนี้ทุกปี เพราะ เป็นพื้นที่ลุ่ม และการระบายน้ำทำได้ช้า การขุดบายพาสที่แม่น้ำตรัง ไม่ได้แก้ปัญหาเมืองตรัง แต่แก้ปัญหาเฉพาะตำบลเท่านั้น จึงตั้งข้อสังเกตว่าใช้งบประมาณไปมหาศาล แต่ไม่คุ้มทุนกับการป้องกันน้ำท่วมทั้งเมือง แม้ตอนนี้ตรังยังไม่วิกฤตหนัก แต่ก็จะมีผู้ได้รับความเสียหาย
เยียวยาไม่ทัน มองเฉพาะหน้า ร้องแก้ระเบียบประกาศเขตอุทกภัย
จากปัญหาที่มีน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ อริยา กล่าวว่า ในแต่ละปีจังหวัดเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลในการเยียวยาเรื่องน้ำท่วม แต่กลับเป็นการเยียวยาเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ที่ต้องจัดพื้นที่ปลอดภัย อาหารการกิน ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะเน้นทำในเรื่องนี้ เพราะ ง่ายต่อการจัดการ แต่หลังจากวิกฤตผ่านไปแล้ว ยังมีความเสียหายที่เกิดจากการท่วมพื้นที่เกษตร ประชาชนไม่มีรายได้ บ้านเรือนเสียหาย จำเป็นต้องซ่อมแซม แต่ยังไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสม
“บางพื้นที่น้ำท่วมไป 50 – 60 ครัวเรือนแล้ว แต่ต้องรอ ปภ. ลงไปสำรวจ และรายงานไปยังจังหวัด ควรให้ท้องถิ่นประกาศเองได้เลย ไม่ต้องรอจังหวัดประกาศ การช่วยเหลือจะทั่วถึง เพราะถ้าน้ำมาแรงมันจะเอาไม่อยู่ จำเป็นต้องแก้ระเบียบให้ท้องถิ่นสามารถประกาศเขตภัยพิบัติเองได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขในเชิงกฎหมายก็สำคัญ”
อริยา กล่าวต่อว่า ภาครัฐต้องเตรียมแผนรับมือ ไม่ใช่รอประกาศพื้นที่อุทกภัย แล้วคิดแค่เรื่องอพยพ หรือการหาเสบียงเท่านั้น ต้องมีแผนเฉพาะว่า ในจังหวัดต่างๆ พื้นใดบ้าง ที่คาดการณ์ว่าจะต้องเกิดน้ำท่วมแน่ๆ และแผนการระบายน้ำ จึงเป็นการเป็นการป้องกันที่เหมาะสม ตอนนี้ในพื้นที่ภาคใต้ ทุกเมืองควรต้องคิดเรื่องนี้แล้ว ประสบการณ์ที่ทำมา พบว่า ถ้าเราไม่แก้ปัญหาน้ำท่วมโดยใช้ช่วงหน้าแล้งให้เป็นประโยชน์ จะเสียหายมาก เพราะ ช่วงหน้าแล้งเราก็จะถมที่ สร้างอาคาร ทำถนน ไม่ได้ดูระบบระบายน้ำเลย ว่ามวลน้ำจะไปทางไหน น้ำขึ้นมาแล้วจะท่วมอย่างไร
ในฐานะที่ อริยา ทำงานด้านอาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติด้วย มองว่าสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ รัฐต้องสร้างอาสาสมัครชุมชน ให้ร่วมมือกับอาสาของหน่วยงานรัฐ ต้องออกแบบให้ชุมชนเตรียมรับภัยพิบัติเอง อย่างจริงจัง ไม่ใช่โอนภาระไปไว้ที่ท้องถิ่นอย่างเดียว แต่ชุมชนต้องเข้มแข็งด้วย คือจัดระบบอาสาสมัครในการช่วยเหลือ ต้องคิดเรื่องการสร้างบ้านหนีน้ำได้ ยกระดับให้พ้นน้ำได้ อยู่อาศัยได้ ถ้าน้ำไม่หนักเกินไป แต่เขายกระดับเองไม่ได้เพราะไม่มีมีทุน รัฐต้องมีกองทุนคอยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย ทั้งการสร้างบ้านและเยียวยาเรื่องอาชีพของคนที่ประสบภัย