เตือน 14 จังหวัดภาคใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

1-2 วันนี้ ภาคใต้เสี่ยงน้ำท่วมหนัก จากผลกระทบร่องมรสุม ทำฝนตกหนักถึงหนักมาก พบ สงขลา ยะลา นราธิวาส มีฝนสะสมสูงสุดเกิน 100 มิลลิเมตร

วันนี้ (5 พ.ย. 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขณะนี้ได้รับผลกระทบ ถนนทรุด และบางส่วนถนนถูกตัดขาด และมีดินสไลด์ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหลายครัวเรือน

ธนวัฒน์ ฤทธิไชย เผยว่า ผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอบันนังสตา ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบได้เเก่ หมู่ที่ 3 บ้านกาสัง, หมู่ที่ 6 บ้านกาสังใน และหมู่ที่ 10 บ้านเเอร้อง รวมบ้านเรือนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 50 ครัวเรือน และเร่งให้ความช่วยเหลือ

ด้าน มะรอปีอี มะสาแต กำนันตำบลตาเนาะปูเต๊ะ เผยว่า จากการสำรวจความเสียหายในพื้นที่เกิดน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะถนนทรุด – ถนนถูกตัดขาดได้รับความเสียหาย รถยนต์ ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็เร่งเคลียร์เส้นทางดังกล่าวแล้ว และมีการมอบถุงยังชีพ และยาสามัญประจำบ้านให้กับชาวบ้าน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า วันนี้ (5 พ.ย. 2565) 14 จังหวัดภาคใต้ มีความเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณช่องแคบมะละกา

ส่วนวันที่ 6 พ.ย. 2565 แนวโน้มฝนตกหนักลดลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงอีก 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้

สำหรับฝนสะสมสูงสุดประจำวันนี้ (5 พ.ย. 2565) พบว่า จังหวัดสงขลา ยะลา และจังหวัดนราธิวาส มีฝนสะสมสูงสุดเกิน 100 มิลลิเมตร โดยที่สถานีบ้านอูแบ ต.ยะต๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา มีฝนสูงที่สุด ช่วง 9.00 น. 179.5 มิลลิเมตร

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ส่วนแนวโน้มสภาพอากาศ ช่วงวันที่ 6 – 10 พ.ย. 2565 นี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1 – 3 องศาเซลเซียส ในภาคอีสาน ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก และบางพื้นที่ก็มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active