7 วันเทศกาลปีใหม่ 2566 คนไทยเสียชีวิต 317 คน

นักวิชาการด้านอุบัติเหตุทางถนน ห่วงอุบัติเหตุทำให้เยาวชนและวัยทำงานที่จะเป็นกำลังพัฒนาชาติลดน้อยลงเรื่อย ๆ ชี้ 5 ปีที่ผ่านมาสร้างความเสียหายเฉียดล้านล้านบาท ย้ำยังห่างไกลเป้าหมายลดอุบัติเหตุของ WHO

โชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยผลสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.65 – 4 ม.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,437 คน ผู้เสียชีวิตรวม 317 คน

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 79 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (81 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 15 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส บึงกาฬ พังงา สตูล และสุโขทัย

โดยสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เพียงวันเดียวก็ยังเกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 253 คน ผู้เสียชีวิต 25 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.85 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 24.48 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.24 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.06 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 48.96 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 24.48

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 17.00 น. ร้อยละ 8.71 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 16.19 มีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,880 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 55,749 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 327,401 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 49,072 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา 13 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 15 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี (จังหวัดละ 2 คน)

โชตินรินทร์ กล่าวต่อว่า แม้ปีนี้จะมีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง แต่สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีอัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต

โดยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ซึ่งกว่าร้อยละ 70 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มีปัจจัยเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่ง ศปถ.ก็กำชับจังหวัดถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า ในทุก 2 ชั่วโมงจะมีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุกวัน แต่ถ้าไม่นับช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่ คนไทยก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณวันละ 50-60 คนอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และวัยแรงงานที่ถือเป็นอนาคตของชาติ ที่น่าสังเกตก็คือ ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรกของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุด นอกนั้นอยู่ในแถบแอฟริกาเกือบทั้งหมด

ถ้าย้อนไปตั้งแต่ ปี 2555 มาจนถึงปี 2566 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ถ้ารวมการเสียชีวิตจากข้อมูล 3 ฐาน ที่ ปภ.รายงาน จะมีคนเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายไม่ต่ำกว่า 300 คนขณะที่บางปี มากถึง 400 คน ขณะที่ข้อมูลสถิติการเสียชีวิตเฉพาะตัวเลขของสาธารณสุขเก็บสถิติได้ ส่วนใหญ่เสียชีวิต 400-500 คน ขณะที่ข้อมูลการบาดเจ็บ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 12 ปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 คน

“นี่คือความสูญเสีย ที่ประเทศไทยควรแก้ไข เพราะถ้าไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเพียงพอ ในการแก้ปัญหา นั่นหมายความว่า คนหนุ่มสาว จะลดลงเรื่อย ๆ จากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน อย่างนี้ก็กระทบกับกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ของไทย ที่เราอยู่ในสังคมสูงวัยสมบูรณ์แล้ว เพราะมีประชากรคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20”

นพ.วิทยา ยังกล่าวอีกว่า แต่ละปีประเทศไทยห่างไกลจากเป้าหมายของ WHO ในการลดอุบัติเหตุมากซึ่งสวนทางกับต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ เพราะมองว่า กลุ่ม เด็กเยาวชน และคนวัยทำงาน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง แต่ดูเหมือนจะสวนทางกับบ้านเรา เมื่อคนหนุมสาวและหัวหน้าครอบครัวกลับต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก

เฉพาะปี 2565 ตั้งแต่เดือน เมษายน-ตุลาคม พบตัวเลขเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10 % ทุกเดือน เมื่อเทียบกับปี 2564 ทำให้คาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตรวมของปี 2565 ที่ผ่านมาจะมากถึง 18,000 คนจากเดิม 16,000 คน

ขณะที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ยังพบว่า  5 ปีที่ผ่านมา คนไทยเสียชีวิต กว่า 9.6 หมื่น 6 คน เพศชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่ช่วงอายุ 15-19 ปี (11.37%) ตามมาด้วย 20-24 ปี(11.05%) ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เกิดในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ นอกจากเป็นการสูญเสียกำลังหลักของชาติในอนาคตแล้ว ยังกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วย

ภญ.ฐิติพร สุแก้ว นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

ภญ.ฐิติพร สุแก้ว นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุทางถนน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเสียหายตามระดับความรุนแรง ก็เพราะอุบัติเหตุแต่ละครั้ง นอกจากจะส่งผลต่อการตายก่อนวัยอันควรแล้ว ยังกระทบทั้งต่อครัวเรือนไปถึงระดับนโยบาย

อย่างระดับครัวเรือน ที่เห็นเป็นเส้นสีเหลืองนี้ ถ้าหัวหน้าครอบครัวบาดเจ็บหรือพิการจากอุบัติเหตุ ก็จะกระทบต้นทุนชีวิตคนรอบข้าง เมื่อไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ลูก ๆ อาจต้องออกจากโรงเรียน

ขณะที่ระดับองค์กร เส้นสีเขียว เกิดุบัติเหตุครั้งหนึ่ง กระทบไปหมด ทั้งการจัดการ ระบบประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ขณะที่ระดับภาครัฐ อุบัติเหตุแต่ละครั้ง ก็จะต้องสูญเสียงบประมาณทั้งอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากร รวมถึงการรักษา และการเยียวยา

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นตัวฉุดรั้งให้จีดีพีของประเทศลดลง หากสามารถลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ร้อยละ 50 ให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570 จะช่วยเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยในเพศชาย 0.9 ปี และประชากรหญิง 0.2 ปี

พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเรา ด้านสาธารณสุข คาดหวังให้คนไทยมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 75 ปี ถ้าลดอุบัติเหตุได้ นอกจากจะยืดอายุขัยของคนไทย น่าจะช่วยลดความสูญเสียภาพรวมเศรษฐกิจได้

ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปี 2566 กรณีเกิดผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุทาง
ถนน ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล 3 ฐานคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปี
ละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 11.37
และ 20-24 ปี ร้อยละ 11.05 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขณะที่ภาพรวมความ
สูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมเฉียดล้านล้านบาท แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้ เสียชีวิต 511,515 ล้านบาท บาดเจ็บรุนแรง (IPD) 158,669 ล้านบาท บาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 144,957 ล้านบาท พิการ 306,156 ล้านบาท

จากผลการศึกษาของ World Bank ในรายงานคาดการผลกระทบความปลอดภัยบนถนนที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และวิเคราะห์กรณีศึกษาจากประเทศ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และไทยพบว่า ในช่วงเวลา 12 ปี ในการลดอัตาการเสียชีวิตและบาดเจ็บในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง พบว่าหากอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงได้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้เศษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น

สำหรับไทย ถ้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ประเมินกันว่า จะสามารถแปลงเป็นรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 22 ในระยะเวลา 24 ปี ในทางตรงข้ามถ้าทำไม่ได้ ในเรื่องการลดอัตราการเสียชีวิต ภายในปี 2573 อาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active