คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก… รู้จัก ‘GRACE’ วิธีสร้างที่ทำงานให้มีแต่ความสุข

ชวนสร้าง ‘สุขภาวะทางจิต’ ที่ดีในที่ทำงาน หวังความรู้สึก อารมณ์เชิงบวก ต่อการทำงาน เชื่อสุขภาพจิตที่ดี ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของพนักงาน ย้ำ องค์กร หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ต้องร่วมสร้างให้เกิดขึ้น

จากการศึกษาของ สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนวัยทำงานใช้เวลาในที่ทำงานประมาณวันละ 8–12 ชั่วโมง [1] หรือ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า การทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดในสมองแตกถึง 35% และหัวใจวายเฉียบพลันถึง 17% เมื่อเทียบกับผู้ที่ทำงานเพียงแค่ 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ [2]

แม้จะเห็นได้ว่าคนไทยใช้เวลาในที่ทำงานค่อนข้างสูงมากอันนำมาสู่ความเสี่ยงต่อโรคร้ายแล้ว ยังนำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตที่ซ่อนไว้ภายใต้ความกดดันในการทำงานด้วย

ปัจจุบัน มีหลายองค์กรที่พยายามสร้าง “สุขภาวะทางจิต (Psychological well-being)” ในที่ทำงานมากขึ้น นั่นคือ สภาวะที่พนักงานมีความรู้สึกและอารมณ์เชิงบวกต่อการทำงานภายในองค์กร มีความพึงพอใจในการทำงาน รู้สึกได้ถึงความสำเร็จ ตลอดจนการมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เป็นเชิงบวก

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 68 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานประกาศผลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ขึ้น

โดยเชื่อว่า สุขภาพจิตที่ดีต้องเริ่มจากที่ทำงาน โดยมีแบบอย่างจากองค์กรต้นแบบ 11 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 5 ด้านตามหลักจิตวิทยาองค์กร ที่เรียกว่า “GRACE” ได้แก่

  • G = Growth & Development คือ การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการของพนักงาน สิ่งนี้จะทำให้คนทำงานเห็นความก้าวหน้าในสายอาชีพและนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตัวเอง

  • R = Recognition คือ การแสดงออกและการรับรู้ถึงความสามารถและความสำเร็จของพนักงาน เช่น การยกย่อง ชื่นชม เพราะสิ่งนี้จะสร้าง self-esteem ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์

  • A = All for inclusion คือ การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความหลากหลายและมีความสามารถเฉพาะตัว สิ่งนี้จะทำให้คนมีพื้นที่ของตัวเองและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

  • C = Care for health & safety คือ การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน

  • E = work-life Enrichment คือ การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เนื่องจากชีวิตส่วนตัวและการงานอาจแยกออกจากกันยากในสมัยนี้ โดยทำให้พนักงานมีชีวิตทั้งสองด้านส่งเสริมกัน เพื่อให้การงานทำให้ชีวิตพนักงานดีขึ้น และชีวิตของพนักงานจะขับเคลื่อนให้พนักงานมีความหมายในงาน
เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก
และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “GRACE” เป็นหลักการและแนวทางที่ที่มาจากงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่ผ่านการทบทวนทางวิชาการมาแล้วว่าสามารถช่วยให้พนักงานในองค์กรมีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้และน่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ครอบคลุมในเบื้องต้น

“หากคนมีสภาวะเครียดหรือซึมเศร้าแล้วไปพบแพทย์ แบบนี้เป็นการทำงานเชิงรับแบบที่เราคุ้นเคย แต่ GRACE จะเป็นแนวทางในเชิงรุก (reactive) คือ มีการป้งกันและส่งเสริมให้คนมีสุขภาวะทางจิตที่ดี เราคิดว่าการเริ่มที่องค์กรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแต่ละวันเราใช้ชีวิตกับการทำงานเยอะมาก หาก 10 กว่าชั่วโมงในที่ทำงานไม่สามารถเป็นพื้นที่ให้พนักงานมีความสุขหรือรู้สึกมีคุณค่าได้ พอกลับบ้าน พนักงานก็จะแบกเอาความทุกข์กลับบ้าน และส่งต่อไปยังคนในครอบครัว แต่หากที่ทำงานมีแต่เรื่องดี ๆ จะกลายเป็นพลังบวกและส่งต่อไปถึงในครอบครัวพวกเขาด้วย เพราะสุขภาพจิตไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวพนักงานเท่านั้น แต่องค์กร หัวหน้างาน หรือแม้แต่ตัวเพื่อนร่วมงาน ทุกคนต่างมีบทบาทในการสร้าง eco-system ที่ช่วยให้สังคมไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้”

เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช

เกรียงไกร อยู่ยืน รองประธานบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล (Executive Vice President – People Director) บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตดีเด่น บอกว่า องค์กรดำเนินกิจการมา 147 ปี และมีพนักงานทั่วโลกร่วม 4,000 คน แม้จะเป็นองค์กรด้านพลังงานและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่มีปรัชญาดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสุขภาวะทางจิตเป็นหลัก

“เรามีปรัชญาในการทำงาน คือ ดำเนินธุกริกจด้วยความโอบอ้อมอารีย์ (doing business with compassion) เราให้ความสำคัญกับพนักงานมาก ๆ และอยากสร้างความสุขที่ยั่งยืน (sustainable happiness) ให้แก่เขา เพราะเชื่อว่า หากจะสร้างสังคมที่เป็นสุขได้ สามารถเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างพนักงาน”

เกรียงไกร อยู่ยืน

รองประธานบริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ยังเล่าอีกว่า องค์การให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง “สติ” แก่พนักงานเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานของทุก ๆ เรื่องในชีวิต และจะช่วยให้พนักงานมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในการทำงานและครอบครัว

เกรียงไกร อยู่ยืน รองประธานบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

“องค์กรเรามีแนวคิดที่เรียกว่า Mindfulness in Organization (MIO) คือ จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ต้องเริ่มที่สติ เพราะจเป็นอาวุธที่พนักงานทุกคนสามารถเอาไปใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา เรามีการสอนการหายใจตั้งแต่พนักงานเข้ามาใหม่ มีพนักงานหลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่คิดว่าน่าเบื่อ จึงมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น จัดสวนขวด จัดดอกไม้ วาดรูป เพื่อให้เหมาะกับจริตของแต่ละคน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสติ”

เกรียงไกร อยู่ยืน

อย่างไรก็ดี เกรียงไกร ยังเสริมอีกว่า โปรแกรมดังกล่าวดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีแล้ว โดยถูกบรรจุอยุ่ในโปรแกรมการพัฒนาของพนักงานโดยเฉพาะผู้บริหารระดับต่าง ๆ เพราะเชื่อว่า ความเครียดของพนักงานมาจากหัวหน้างาน หากปลูกฝังเรื่องดังกล่าวตั้งแต่แรก จะทำให้บรรยากาศการทำงานของทีมดีขึ้นด้วย

ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า องค์กรเหล่านี้ต่างมีรูปแบบและวิธีการส่งเสริมสุขภาพจิตที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่เปรียบเสมือนองค์กรต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานสามารถทำได้จริงและเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน

“การประเมินสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตนี้ เป็นการสำรวจสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ทั้งด้านการงานและจิตใจของพนักงาน ว่าองค์กรนั้น ๆ ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตของพนักงานมากเพียงใด และมีสิ่งแวดล้อม หรือวิธีปฏิบัติเพื่อยกระดับความสุขทางใจแก่พนักงานหรือไม่ ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างต้นแบบขององค์กรที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมกับการทำงาน ลดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active