ชวนคนไทย ร่วมกิจกรรมส่งแสงเพื่อหมอกระต่าย วันที่ 21 ม.ค.นี้ เวลา 15.09 น. รณรงค์พัฒนาวิศวกรรมจราจร และปลูกฝังเกี่ยวกับจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนนผ่านแคมเพนต่าง ๆ
ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 66) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 21 ม.ค. ของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ เพื่อหยุดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายเกิดขึ้นซ้ำอีก และเพื่อกระตุ้นเตือน สร้างความตระหนักให้มีจิตสำนึกรักความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ถนน ทุกเพศ ทุกวัย
โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอจาก น.พ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ในประเด็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จึงพิจารณาจัดการรณรงค์และกำหนดวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนจะเป็นมาตรการเสริมส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรฐานในการปฏิบัติและความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมหรือการลงโทษผู้กระทำผิดหรือกระทำผิดซ้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า หากย้อนไป เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล และ รัชนี สุภวัตรจริยากุล บิดาและมารดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล และมีการให้ความเมตตาเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเพื่อเป็นการลำลึกถึงหมอกระต่ายและเพื่อเป็นการเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมหยุดรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย
ซึ่งในโอกาส วันที่ 21 มกราคม 2566 เป็นวันครบรอบที่หมอกระต่ายจากไป และเป็นวันที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน เชิญชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมกันส่งแสงในตัวท่านเพื่อรำลึกถึงหมอกระต่าย ในวันที่ 21 มกราคม 2566 เวลา 15.09 น. ซึ่งเป็นเวลาที่หมอกระต่ายประสบอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชนเสียชีวิต
มูลนิธิเมาไม่ขับจึงขอเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมกิจกรรมส่งแสงเพื่อหมอกระต่าย โดยมูลนิธิเมาไม่ขับขอให้ประชาชนที่ขับขี่รถบนท้องถนนช่วยเปิดไฟหน้ารถเป็นเวลา 1 นาที สำหรับประชาชนที่สัญจรไปมาบนท้องถนนในเวลาดังกล่าวไม่ได้ขับขี่รถยานพาหนะ ขอให้ช่วยเปิดไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือของท่านส่องขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นเวลา 1 นาทีเช่นกัน
สำหรับกิจกรรมในส่วนกลางจะมีกิจกรรมร่วมใจคนไทยส่งแสงเพื่อหมอกระต่าย ด้วยการจุดเทียน ในวันที่ 21 มกราคม 2566 เวลา 15.09 น. ณ บริเวณฟุตบาทด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมูลนิธิเมาไม่ขับได้เชิญ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนนวุฒิสภา นายแพทย์อนิรุทธ์ และ รัชนี สุภวัตรจริยากุล บิดามารดาหมอกระต่าย เป็นประธานนำร่วมใจคนไทยส่งแสงเพื่อหมอกระต่าย
นพ.สิวดล พินิตความดี เพื่อนร่วมรุ่น พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย และทีมขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายกลุ่มแรบบิทครอสซิ่ง กล่าวว่า กลุ่มแรบบิทครอสซิ่ง และเพจ Rabbit Crossing ทางกระต่าย ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คุณหมอกระต่าย ตั้งแต่ 21 มกราคม 2565 จุดประสงค์ของกลุ่มคือต้องการสร้างวัฒนธรรมทางม้าลายที่ปลอดภัย ที่แบ่งกลุ่มขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น กลุ่มเรกคือการขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายทางข้ามให้คุ้มครองคนข้ามทางม้าลายให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น กลุ่มที่สอง คือรณรงค์เรื่องลักษณะทางกายภาพทางม้าลายอันนี้ต้องเกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรมจราจร และกลุ่มที่สาม คือการรณรงค์ปลูกฝังเกี่ยวกับจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนนจะผ่านแคมเพนต่าง ๆ
“ครบรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ส่วนผมเองดูแลในเรื่องกฎหมายมีความตั้งใจที่จะยื่นข้อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทำกฎหมายให้ผู้ข้ามถนนโดยเฉพาะขึ้นมา เพราะปัจจุบันใน พ.ร.บ. จราจรทางบกไม่ได้มีกฎหมายตามมาตราแยกออกมา ว่าผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถให้ผู้ข้ามทางม้าลาย ที่มีมาตรา 46 วรรค 2 ที่เมื่อเห็นทางม้าลายข้างหน้า ห้ามแซงเด็ดขาดในระยะ 30 เมตร แต่ว่ามันไม่ได้มีกฎหมายข้อไหนว่าต้องหยุด ซึ่งมันก็ทำให้วัฒนธรรมการขับรถเมื่อเห็นทางม้าลายผู้ขับขี่ก็ไม่ต้องหยุดก็ได้เขาก็ขับผ่านไป บางกครั้งก็กลายเป็นภาระของผู้ข้ามว่ารถมันว่างหรือยังแล้วค่อยข้าม”
นพ.สิวดล ยังกล่าวอีกว่าก่อนหน้านั้นเรามีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผ่านwww.change.orgได้รายชื่อไป 5-6 หมื่นราย แต่ชื่อยังไม่สามารถเข้าชื่อเพื่อไปยื่นเรื่องกฎหมายได้ มันจะต้องมีสำเนาบัตรประชาชนและมีการเซ็นสำเนาถูกต้องอันนี้ถึงจะยื่นประธานสภาได้ แต่มันก็บ่งบอกจำนวนได้ว่าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการข้ามทางม้าลายเกิดขึ้น
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาก็มีการยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังพรรคการเมือง เกือบทุกพรรค ยังมี ส.ส. และมียื่นหนังสือไปที่ประธานสภา ยื่นหนังสือไปที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล เสียงตอบรับก็ยังไม่ได้ตอบรับมามากนัก ถ้ามีรัฐบาลชุดใหม่ทีมกฎหมายก็จะไปยื่นข้อเรียกร้อง ก็ต้องยอมรับว่าจิตสำนึกสำคัญที่สุดและองค์ประกอบก็สำคัญ
1 ปีที่ผ่านมาก็เป็นความเปลี่ยนแปลงบางส่วนของทางม้าลายหลายจุด และเริ่มมีบางส่วนที่เริ่มหยุดรถให้คนข้ามบ้าง ซึ่งก็อยากให้ ทั้งจิตสำนึกคนมีมากขึ้นที่สำคัญการสร้างทางม้าลายที่มีมาตรฐานคือสิ่งที่อยากให้มีเพิ่มซึ่งจริงๆแล้วก็อยากให้มีสัญญาณไฟจราจรเกือบทุกทางข้ามเลยครับ
ส่วนข้อกฎหมายและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับทางม้าลายในไทย
สำหรับผู้ขับรถ
- เมื่อเจอทางม้าลาย ต้องชะลอและเตรียมหยุดรถให้คนเดินข้ามถนน และห้ามจอดรถบนทางม้าลายและต้องจอดให้ห่างจากทางม้าลายอย่างน้อย 3 เมตร ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- ห้ามขับรถแซงรถคันอื่นภายในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางม้าลาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 400-1,000 บาท
- ถ้าหากขับรถชนคนเดินเท้าจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตบริเวณทางม้าลายจะมีความผิดเพิ่ม
สำหรับคนเดินเท้า
- หากไม่ใช้ทางม้าลายหรือสะพานลอยภายในระยะ 100 เมตรจากทางข้าม ถือว่ามีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
- หากคนข้ามถนนทำผิดกฎในข้อก่อนหน้าแล้วถูกรถชน ถือว่าคนข้ามถนนเป็นผู้มีความผิด
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 เพิ่มอัตราโทษปรับ-จำคุก เพิ่มโทษกระทำผิดซ้ำ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 หนึ่งในนั้นข้อกฏหมายที่เพิ่มโทษขึ้นมาคือการ เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต หรือร่างกายของผู้อื่น อย่าง ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (จากอัตราโทษเดิม 1,000 บาท)