1 สัปดาห์ ‘แผ่นดินไหว’ ใจยังไหวไหม ? เช็กก่อนเสี่ยง ‘ภาวะเครียดเฉียบพลัน’

กรมสุขภาพจิต แนะ ฝึกตัวเองอยู่กับปัจจุบัน เตรียมพร้อมแบบไม่ตระหนก ส่งต่อข้อมูลเชิงบวกเป็นพลังให้กัน สร้างเกราะป้องกันใจในอนาคต

วันนี้ (4 เม.ย. 68) ครบ 1 สัปดาห์ เหตุแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 แรงสะเทือนถึงประเทศไทยส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 18 จังหวัด รวมถึงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง

โดยผู้ที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนั้น จำนวนมากยังอยู่ในความวิตกกังวลแม้จะผ่านมา 1 สัปดาห์แล้วก็ตาม The Active สำรวจความเห็นของผู้คนในโลกออนไลน์ ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ในช่วงวันที่ 4 เม.ย. 68 พบข้อความ เช่น

  • PTSD (วิตกกังวลหลังผ่านเหตุการณ์วิกฤต) จากการเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น หวาดระแวง, นอนไม่หลับ-ฝันร้าย, เครีย
  • กลัวว่าจะไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตบนตึกสูง จากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
  • เสพข่าว #ตึกสตง. จนเครียด
  • กังวลเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจกิจสำหรับเจ้าของที่ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์
  • กลัวร่างกายตัวเองปรับตัวให้กลับมาเป็นปกติไม่ได้หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น ตอนนี้ยังมีอาการเวียนหัว, บ้านหมุน

‘ภาวะเครียดเฉียบพลัน’ เกิดขึ้นได้หลังเผชิญเหตุรุนแรง แม้เกิน 1 สัปดาห์

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า หลังเหตุการณ์ 72 ชั่วโมงแรก ถือเป็นเรื่องปกติที่คนเจอเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่เคยเจอมาก่อน แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิดต่างๆ ทั้งเศร้าเสียใจ กลัว กังวล หรือความคิดพลุ่งพล่าน แต่หลังจากนั้นคนจำนวนมากจะเริ่มไม่ค่อยมีอาการเหล่านี้ และเริ่มปรับตัวได้

แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะอาจจะยังต้องเผชิญกับเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ เช่น อยู่ในศูนย์ราชการที่มีการอพยพกันบ่อย ๆ อาจจะยังมีอารมณ์ความรู้สึกได้ เช่น คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ ความคิดพุ่งเข้ามาในสมอง และรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลา หลับก็ฝันร้าย ตื่นมาก็รู้สึกว่ามีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น กังวลง่าย มีของหล่น มีคนเดินชนโต๊ะ หรือมีรถบรรทุกเคลื่อนผ่านแล้วพื้นสั่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกกลัวมาก่อน แต่กลายเป็นความรู้สึกมากขึ้น

หรือบางคนอาจจะมีอาการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และอารมณ์ เช่น เศร้า ไม่อยากพูดคุยกับใครไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ หรืออาจจะหลีกเลี่ยงที่จะไปในที่ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น หลีกเลี่ยงที่จะขึ้นในที่สูง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ อาการต่าง ๆ เหล่านี้คนจำนวนหนึ่งจะมีอาการแบบนี้อยู่

ในทางการแพทย์ อาการเหล่านี้เรียกว่า ภาวะเครียดเฉียบพลัน และอนาคตหากไม่ได้รับคำปรึกษาอาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า PTSD เช่น เหตุการณ์สึนามิ มีคนจำนวนหนึ่งที่ต้องประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ใช่ทันทีหลังจากเกิดเหตุ แต่บางคนมีอาการให้หลัง 3 วัน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนขึ้นไป แต่ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ต้องให้จิตแพทย์ทำการวินิจฉัยก่อน

แต่สำหรับผู้ที่ยังวิตกกังวลอาจเริ่มด้วยการจัดการอารมณ์ ความรู้สึกด้วยตัวเองก่อน เช่น หากกลัวเหตุการณ์เกิดซ้ำควรติดตามข้อมูลจากทางการ กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะพบว่าการเกิดเหตุซ้ำของแผ่นดินไหวเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ รวมถึงการวางแผน เตรียมรับมือทั้งตัวเอง นัดแนะกับคนในครอบครัว จะช่วยสร้างความมั่นใจ และคลายความกังวลลงได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือการไม่จมอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต และฝึกการรับรู้ดึงตัวเองกลับมาที่ปัจจุบัน

“การดึงตัวเองกลับมาอยู่ในปัจจุบัน เช่น เปิดประสาทสัมผัสว่าตอนนี้ฉันเห็นอะไรอยู่รอบตัว ได้กลิ่นอะไร รู้สึกยังไงกับผิวฉันตอนนี้ เพื่อตัดขาดจากความคิดความทรงจำตัวเองที่มีต่ออดีต การทำแบบนี้ช่วยทำให้เรียนรู้ว่าขณะนี้ฉันปลอดภัยดี ส่วนใครที่ไม่ไหวจริงๆ อาจจะลองพูดเรื่องนี้ให้กับคนรอบข้างคนที่ไว้ใจ หรือปรึกษาออนไลน์ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

หยุดส่งต่อภาพความสูญเสีย เน้นสื่อสารเชิงบวก สร้างเกราะป้องกันใจในอนาคต

ขณะที่ปัจจัยกระตุ้นอารมณ์ภายนอก เช่น สื่อ และโซเชียลมีเดีย นพ.วรตม์ ย้ำว่า นอกจากตัวเองในฐานะผู้รับสารจะต้องเลือกเสพคอนเทนต์เชิงบวกแล้ว ในฐานะคนผลิตสื่อ หรือส่งต่อสื่อ ควรระมัดระวัง เช่น ภาพความรุนแรง ภาพสะเทือนขวัญ ไม่ผลิตความรุนแรงซ้ำ หรือสร้างข่าวปลอม และต้องระวังอย่าเผลอไปเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดี ส่งต่อข่าวปลอมโดยเด็ดขาด

พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนลองส่งต่อสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ เช่น ภาพการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน องค์ความรู้ดี ๆ ที่อยู่ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านสุขภาพจิต การจัดการตัวเอง พยายามส่งต่อให้ได้มากที่สุด

พร้อมยกตัวอย่างช่องทางของกรมสุขภาพจิตในหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลิตคอนเทนต์เนื้อหาดี ๆ รวมกันมากกว่า 50 เนื้อหา นอกจากจะทำให้สังคมไทยแข็งแรงแล้ว ยังมีเกราะป้องกันที่คุ้มกันเมื่อในอนาคตต้องรับมือกับสถานการณ์แบบนี้อีก จะสามารถรับมือไปด้วยกันอย่างมั่นคง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active