กรรมการสภาวิศวกร ย้ำ โครงสร้างอาคาร สตง.มีจุดอ่อน ถล่มต่างจากวิสัยทั่วไป ชี้ บทเรียนทีมวิศวกรต้องทำงานตามหลักปฏิบัติ เดินหน้าตรวจสอบอาคารทุกหลังให้ปลอดภัย ป้องกันภัยพิบัติในอนาคต
วันนี้ (3 เม.ย. 68) ในรายการ คุยเฟืองเรื่องวิศวกรรมกับสภาวิศวกร ตอนพิเศษ เรื่อง “วิศวกรอาสาสภาวิศวกรกับการวินิจฉัยอาคารแผ่นดินไหว” รศ.เอนก ศิริพานิชกร กรรมการสภาวิศวกร และประธานคณะทำงานภัยพิบัติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่เขตจตุจักรถล่ม โดยระบุว่า สภาวิศวกรได้เข้าร่วมการตรวจสอบตั้งแต่ต้น พร้อมเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีในการประเมินความเสียหายและป้องกันเหตุซ้ำรอย

ระดมวิศวกรอาสา 200 คน ตรวจตึก
กรมโยธาฯ ออกใบแดง 34 อาคาร
ในช่วงที่ผ่านมา สภาวิศวกรได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ระดมวิศวกรอาสากว่า 200 คนลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนตามอาคารสูงทั่วกรุงเทพฯ ทีมงานแบ่งออกเป็นกลุ่มตามความเชี่ยวชาญ เช่น การตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภค และความปลอดภัย ทั้งนี้ ใช้วิธีวิเคราะห์จากภาพถ่ายและข้อมูลภาคสนาม พร้อมเปิดศูนย์บัญชาการกลางเพื่อประสานงานและตอบคำถามจากประชาชน รวมถึงให้ประชาชนแจ้งปัญหาผ่าน Call Center ของสภาวิศวกรหรือวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีหลายอาคารที่ได้รับความเสียหายมีปัญหาเกี่ยวกับงานระบบภายใน และแท็งก์น้ำแตก ส่งผลให้น้ำท่วมภายในอาคาร กระทบต่อระบบโครงสร้างและความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิศวกรอาสาพบอาคารมีปัญหาเชิงโครงสร้างรุนแรงเพียง 2 แห่ง ซึ่งได้รับใบแดงจากสภาวิศวกร ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมโยธาธิการและการผังเมือง ออกใบแดงเตือนถึง 34 อาคาร นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบระบบลิฟต์และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
ในประเด็นด้านกฎหมายและมาตรการป้องกันในอนาคต มีการพูดถึงกฎกระทรวงเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ซึ่งปัจจุบันขยายพื้นที่ควบคุมจาก 22 จังหวัดเป็น 43 จังหวัด และอาจมีการขยายเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารทั่วประเทศ ทั้งนี้ สภาวิศวกรและทีมวิศวกรอาสายังคงทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าการก่อสร้างอาคารเป็นไปตามมาตรฐาน และป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ตึก สตง. ถล่มแนวตรง คาดจุดอ่อนทางโครงสร้าง
รศ.เอนก ยังเปิดเผยด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุอาคาร สตง.ถล่ม กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงทันที โดยมีตัวแทนจากสภาวิศวกรเข้าร่วม ซึ่งคณะกรรมการได้แบ่งการตรวจสอบออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. วิเคราะห์สาเหตุของการพังถล่ม 2. ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง 3. พิจารณาคุณภาพของวัสดุที่ใช้ นอกจากนี้ สภาวิศวกรยังได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสำรวจโครงสร้าง เช่น การใช้โดรนบินสำรวจและสร้างแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อนำมาประเมินปริมาณซากปรักหักพังและลักษณะการพังของอาคาร
รศ.เอนก ย้ำว่า เหตุอาคาร สตง.ถล่ม มีลักษณะแตกต่างจากกรณีอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมียนมา โดยอาคารในเมียนมา มักเกิดการทรุดตัวหรือเอียง แต่กรณีนี้ตัวอาคารพังลงมาในแนวตรง ซึ่งอาจสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ฐานราก หรือการออกแบบอาคาร
“เราเปรียบเทียบกับกรณีการระเบิดอาคารที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจ จะเห็นได้ว่าหากเป็นการระเบิด อาคารจะพังลงมาอย่างมีรูปแบบ แต่ในกรณีนี้เราพบว่ามีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งอาจบ่งชี้ว่ามีจุดอ่อนทางโครงสร้าง”
รศ.เอนก ศิริพานิชกร
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า โครงสร้างของอาคารที่ถล่มใช้ระบบคาน และเสาที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าปกติ และไม่มีโครงสร้างรองรับน้ำหนักที่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การพังถล่ม รศ.เอนก เสนอว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาใช้มาตรการตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างอย่างเข้มงวด และนำเทคโนโลยี เช่น การสแกนโครงสร้างด้วยระบบ 3 มิติ หรือการวิเคราะห์ฐานรากด้วยเซนเซอร์ขั้นสูงมาใช้ในการตรวจสอบอาคาร โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
เร่งช่วยเหลือผู้ติดค้างหลังพบสัญญาณขอความช่วยเหลือ
สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ยังติดอยู่ในซากตึก สตง.ถล่มนั้น เวลานี้หลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยไทย ร่วมกับทีมกู้ภัยจากนานาชาติ เร่งดำเนินการรื้อถอนแผ่นซีเมนต์ขนาดใหญ่ ในโซนบีที่พังถล่ม หลังมีการตรวจพบเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อาจติดอยู่ภายในซากอาคาร แม้ว่าจะผ่านไปแล้วกว่า 6 วัน โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โดรนสำรวจพื้นที่ และ เครื่องสแกนสัญญาณชีพ เพื่อระบุพิกัดของผู้ที่อาจรอดชีวิต
ทาง รศ.เอนก บอกว่า ขณะนี้มีสัญญาณตอบรับจากผู้ติดค้าง คาดว่าน่าจะมีผู้รอดชีวิต ซึ่งถือเป็นข่าวดี พร้อมยืนยันว่า การกู้ภัยต้องใช้ความระมัดระวังสูง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายซากอาคารอาจกระทบโครงสร้างที่เหลืออยู่ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายเพิ่มเติม ทีมกู้ภัยใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก ในการขุดเจาะ และเคลื่อนย้ายซากอาคารเฉพาะจุดที่จำเป็น โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กองทัพไทย และหน่วยงานอาสาสมัครต่าง ๆ ทั้งนี้ ทีมวิศวกรต้องทำงานตามหลักปฏิบัติ และวิชาการ เพื่อให้แน่ใจว่าอาคารทุกหลังมีความปลอดภัยและป้องกันภัยพิบัติในอนาคต
ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งติดตามภารกิจอย่างใกล้ชิด และถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงจากผู้ติดค้าง ขณะที่สัญญาณจากเครื่องมือสื่อสารระบุพิกัดตรงกัน เจ้าหน้าที่จึงคาดว่า อาจเป็นพื้นที่โพรงของบันไดหนีไฟ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ติดค้างรวมตัวกันอยู่บริเวณดังกล่าว
การรื้อถอนซากอาคารยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องสับเปลี่ยนกำลังกันเข้าปฏิบัติการ และแบ่งทีมออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ชุดกู้ชีพ และชุดรื้อซากอาคาร ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องหยุดใช้เครื่องจักรหนักเป็นระยะ และใช้วิธีค่อย ๆ เคลื่อนย้ายแผ่นซีเมนต์ด้วยรถเครน
ระหว่างปฏิบัติการค้นหา เจ้าหน้าที่สามารถยกแผ่นซีเมนต์ออกไปได้ 2 แผ่น พบว่าด้านล่างมีลักษณะเป็นโพรง จึงโรยตัวลงไปสำรวจ แต่ยังไม่พบผู้ติดค้าง ในขณะเดียวกัน ทีมแพทย์ฉุกเฉินได้เตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือพร้อมสแตนด์บายภายในพื้นที่
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ (ณ วันที่ 3 เม.ย. 68) ยังคงอยู่ที่ 15 คน แบ่งเป็นชาย 8 คน หญิง 7 คน ขณะที่จำนวนผู้สูญหายอยู่ที่ 72 คน