Beach For Life ชวนจับตา การประชุมร่วม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เคาะให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA ก่อนทุกครั้งหรือไม่
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 สำนักงานนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม สรุปเเละประกาศผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นการนำเอากำเเพงกันคลื่นทุกขนาดกลับมาทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ้างอิงจากร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับแก้ไขปรับปรุง ลำดับที่ 25 ระบุว่า การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล ลำดับย่อย 25.3 กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล ทุกขนาด จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถานศึกษา กลุ่มอนุรักษ์ ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด
หลังจากรับฟังความคิดเห็นประชาชนทางเว็บไซต์ และส่งจดหมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1,630 ฉบับ ระหว่างวันที่ 10-25 มกราคม ที่ผ่านมา ผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อการเพิ่มเติม “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาดและเพิ่มบทนิยาม กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล และแนวชายฝั่งทะเล” พบว่า
- ส่วนราชการ เห็นด้วยร้อยละ 84.75 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 15.25
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เห็นด้วยร้อยละ 88.38 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 11.62
- ประชาชน เห็นด้วยร้อยละ 60.00 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 11.62
- เอกชน เห็นด้วยร้อยละ 66.67 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 33.33
- ที่ปรึกษา เห็นด้วยร้อยละ 50.00- ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 50.00
- NGOs เห็นด้วยร้อยละ 100.00 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 00.00
- มหาวิทยาลัย เห็นด้วยร้อยละ 100.00 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 00.00
- ระบบกลางกฎหมาย เห็นด้วยร้อยละ 83.33 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 16.67
อื่นๆ เห็นด้วยร้อยละ 100.00 – ไม่เห็นเห็นด้วยร้อยละ 00.00
นอกจากนั้นแล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ประกาศรายงานประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย โดยระบุสาระสำคัญว่า การประกาศให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการสูญเสียทรัพย์สินของประชาชนและภาครัฐที่เกิดขึ้นจากการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยลดความขัดแย้งและนำไปสู่การยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และช่วยให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการ หรือกิจการ พร้อมทั้งการกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการกำแพงกันคลื่น
อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life เเละเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด กล่าวว่า หลังจากนี้คาดว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำร่างประกาศให้กำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA และผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อพิจารณาประกาศให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA ต่อไป
“การรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มชัดเจนว่า คนทุกกลุ่มตระหนักถึงผลกระทบในเรื่องนี้ หลังจากนี้ สผ. กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชาติควรจะทำตามความคิดเห็นเหล่านี้ เพราะผลการสำรวจมีความชัดเจน แต่ก็ยังไม่เชื่อใจต้องช่วยกันจับตา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชาติ ที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน คิดว่าถ้าพลิกโดยไม่มีเหตุผล ภาคประชาสังคมต้องไม่เห็นด้วยแน่นอน… ซึ่งหากว่ามีการทำตามผลสำรวจนี้ น่าจะเป็นหลักประกันให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดติดทะเลมากกว่า ที่ปล่อยให้มีการสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปโดยไม่ได้ทำ EIA”