กมธ.พัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ถกปม ‘เหมืองโปแตช’ ด่านขุนทด ไร้เงากลุ่มทุนเข้าชี้แจง

หลังพบการใช้ระเบิดเปิดอุโมงค์ โดยไม่จัดทำ EIA ใหม่ กระทบสิทธิชุมชน ชี้ ตรวจสอบ น้ำ ดินรอบ ‘วัดหนองไทร’ เสียหายต่อเนื่อง 3 ปี พบค่าความเค็มเกินมาตรฐาน บางจุดเค็มสูงกว่าน้ำทะเลถึง 3 เท่า ขณะที่ ‘อังคณา’ จี้ รัฐคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ เสนอตั้ง ‘ศาลสิ่งแวดล้อมฯ’ แก้ข้อพิพาททรัพยากร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำโดย อังคณา นีละไพจิตร ประธานกรรมาธิการฯ จัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีร้องเรียนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กรณีผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่อาจละเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญเข้าร่วม ได้แก่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) และ องค์กร Protection International (PI) อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่นฯ ที่ถูกเชิญเข้าร่วม ไม่ได้ส่งตัวแทนมาประชุมแต่อย่างใด

แฉปัญหาความเค็มในน้ำ-ดิน ‘วัดหนองไทร’ กระทบชุมชนต่อเนื่อง 3 ปี

รศ.สาโรช รุจิวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยผลการวิเคราะห์น้ำ และดินจากพื้นที่บ้านหนองไทร ว่า พบค่าความเค็มในหลายจุดเกินมาตรฐานสำหรับการอุปโภค-บริโภค บางจุดมีความเค็มสูงกว่าน้ำทะเลถึง 3 เท่า และตรวจพบสารโพแทสเซียมคลอไรด์ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำเหมืองโปแตช

แม้ผลการวิเคราะห์ล่าสุดในปี 2567 จะไม่พบว่าความเค็มขยายวงกว้าง แต่ก็ไม่มีแนวโน้มลดลง และยังคงสูงเกินค่าตามรายงาน EIA ดั้งเดิม จึงถือเป็นสัญญาณที่รัฐต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่โดยไม่ต้องรอผลพิสูจน์ทางเทคนิคอย่างสมบูรณ์ก่อน รศ.สาโรช ยังย้ำว่า แม้จะยังไม่มีข้อสรุปทางเทคนิคว่า เหมืองแร่เป็นต้นเหตุโดยตรง แต่ข้อเท็จจริงคือชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำและดินได้แล้วในพื้นที่เดิม รัฐจึงไม่ควรรอให้พิสูจน์ความเชื่อมโยงก่อนลงมือแก้ไข เพราะผลกระทบเกิดขึ้นจริงแล้วในชีวิตประจำวันของประชาชน

ภาพ : เหมืองแร่โปแตชแอ่งโคราช

เผยชาวบ้านถูกรัฐมองข้าม ซ้ำถูกฟ้องร้องแม้ได้รับผลกระทบ

จงดี มินขุนทด นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงในที่ประชุมว่า กลุ่มฯ ของตนไม่เคยได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ และไม่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมหรือให้ข้อมูลแก่ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐลงพื้นที่โดยเข้าไปที่เหมืองโดยตรง โดยไม่ได้ลงมาพบหรือสอบถามกลุ่มฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางไปปรากฏตัวเองที่เวทีประชุมที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดขึ้นโดยที่ไม่ได้เชิญ เพื่อแสดงให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เห็นว่า พวกเรามีตัวตนจริงและได้รับผลกระทบจริง

จงดี ยังระบุว่า ชาวบ้านบางส่วนถูกฟ้องร้องในคดีความจากการแสดงออกถึงผลกระทบที่ตนเองเผชิญ โดยขาดการคุ้มครองจากรัฐและขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงเรียกร้องให้ทบทวนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งระบบ ขณะที่ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ถูกตั้งคำถามถึงการดำเนินการล่าช้า แม้ชาวบ้านบางรายจะถูกฟ้องร้องแล้ว แต่กระบวนการของรัฐยังอยู่ในขั้นตอน “รอการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง”

“ผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว ชาวบ้านถูกฟ้อง ถูกกดดัน และแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการต่อสู้ แต่หน่วยงานรัฐกลับยังบอกว่าต้องรอขั้นตอนต่าง ๆ อีกหลายขั้นตอน แบบนี้มันเป็นธรรมแล้วหรือ”

จงดี มินขุนทด

จงดี ในฐานะตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ยังเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทุกฝ่ายทบทวนบทบาทของตนเอง และดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง โดยไม่มองประชาชนเป็นเพียง “เสียงส่วนน้อย”

เปลี่ยนรูปแบบการขุดโดยใช้ระเบิด ไม่มี EIA ใหม่ ชุมชนไม่รับรู้

ขณะที่ อังคณา ระบุว่า จากการลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการฯ พบว่า บริษัทผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่โปแตช มีการเปลี่ยนรูปแบบการขุดจากอุโมงค์แนวเอียงเป็นแนวดิ่ง โดยมีการใช้ระเบิดเปิดอุโมงค์ ซึ่งเป็นกระบวนการใหม่ที่แตกต่างจากแผนเดิม แต่กลับไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านควรได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แต่กลับถูกมองข้าม ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบกลับจัดทำเพียง “รายงานการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการ” ซึ่งไม่ครอบคลุมผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน

กรรมาธิการฯ ยังพบว่า คณะทำงานระดับจังหวัดที่ควรทำหน้าที่ติดตามและกลั่นกรองข้อร้องเรียน กลับไม่ดำเนินการใด ๆ มานาน โดยอ้างว่ากำลังรอผลการตรวจสอบจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีช่องทางในการร้องเรียนหรือหารือกับหน่วยงานรัฐอย่างเป็นระบบ

อังคณา เสนอว่า เพื่อให้ปัญหาไม่ยืดเยื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินควรทำหนังสือแจ้งแก่คณะทำงานระดับจังหวัดว่าการประชุมสามารถดำเนินได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลสรุปจากผู้ตรวจการ ซึ่งมีบทบาทคนละด้าน เพื่อเร่งเปิดเวทีพูดคุยและหาทางออกอย่างรอบด้านก่อนที่จะเกิดความเสียหายเพิ่มเติม กรณีเหมืองโปแตชด่านขุนทดนั้น มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights) โดยเฉพาะในประเด็นที่ภาคธุรกิจดำเนินกิจการแล้วส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชน ซึ่งในกรอบดังกล่าว รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองอย่างชัดเจน

“แม้ว่าตามหลักการ ผู้ที่ละเมิดจะต้องเป็นผู้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่รัฐก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะรัฐเป็นผู้อนุญาตและกำกับดูแลโดยตรง”

อังคณา นีละไพจิตร

ผู้ตรวจการแผ่นดินแจงบทบาท ยืนยันศึกษาผลกระทบเชิงระบบ

เมธี มั่นคง รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงว่า การที่สำนักงานเข้ามาตรวจสอบกรณีเหมืองโปแตช ไม่ได้เกิดจากคำร้องของประชาชนโดยตรง แต่เป็นการหยิบยกประเด็นใหม่ที่สำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งยังไม่มีแนวทางจัดการที่ชัดเจน

โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ่านกฎหมายแร่จาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 สู่ฉบับปี 2560 ที่เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ทางสำนักงานได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยหน่วยงานรัฐ นักวิชาการด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ และภาคประชาสังคม เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนวทางเชิงโครงสร้าง ทั้งในระดับกฎหมายและนโยบาย

เมธี ยังเปิดเผยว่า คณะทำงานได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐ และจัดประชุมหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มประชาชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่ติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด เมื่อกระบวนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาเสร็จสิ้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะจัดทำข้อเสนอที่สามารถใช้พัฒนากฎหมาย ขั้นตอน และมาตรการ รวมถึงจัดทำเป็นคู่มือให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายต่อไป

จี้รัฐคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ เสนอใช้ ‘มาตรการชั่วคราว’ ระหว่างข้อพิพาท

ประธานกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดในการยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวระหว่างที่ข้อพิพาทยังไม่สิ้นสุด รวมถึงเสนอให้รัฐศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดจากกรณีการผลิตและขายเกลือในภาคอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรและแรงงานในพื้นที่

พร้อมทั้งได้สรุปข้อเสนอสำคัญว่า รัฐควรจัดตั้ง “ศาลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ” เพื่อรองรับคดีและข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยใช้รูปแบบกึ่งอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและลดภาระของประชาชน

“เวลานี้ประเทศเรายังไม่มีระบบศาลที่จัดการข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จำเป็นต้องมีกลไกที่เชื่อถือได้และเป็นธรรม”

อังคณา นีละไพจิตร

ขั้นตอนต่อไป กรรมาธิการฯ จะเดินทางเข้าพบกับกระทรวงมหาดไทย และบริษัทบางจากฯ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของบางจาก ที่มีผู้ถือหุ้นคือบริษัทสัญชาติจีนที่ยังมีความคลุมเครือ ก่อนหน้านี้กรรมาธิการฯ ได้เชิญทั้งกระทรวงมหาดไทย และบริษัทบางจากฯ เข้าร่วมประชุม แต่ในส่วนของบริษัทบางจากฯ ไม่เคยเข้าร่วมประชุมกับกรรมาธิการฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว และหลังจากได้ข้อมูลครบถ้วนจากทุกฝ่าย ก็จะเขียนเป็นรายงานสรุปผลการตรวจสอบของกรรมาธิการฯ ในลำดับถัดไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active