เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 สะเทือนไทย 5 จังหวัด

กรมอุตุฯ รายงานการเกิดแผ่นดินไหวพิษณุโลก ขนาด 4.5 ทำให้พื้นที่ใกล้เคียงรู้สึกสั่นไหว พบจุดศูนย์กลางไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ยังไม่ได้รับการสำรวจ นับเป็นเหตุรุนแรงที่สุดในรอบสถิติ 9 ปีที่ผ่านมาของพิษณุโลก

ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในกรณีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00:17 น. โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โดยเป็นแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 4.5 ความลึก 5 กิโลเมตร โดยได้รับแจ้งความรู้สึกสั่นไหวเป็นบริเวณกว้างในบริเวณจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ เลย โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพิจิตรประมาณ 15 กิโลเมตร

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี อาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (Hidden Fault) ซี่งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้หากลไกการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าแผ่นดินไหวเกิดจาก แนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

สำหรับจังหวัดพิษณุโลก เกิดแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ วันที่ 20 พ.ค. ปี 2558 เคยเกิดเวลา 04.59 น. ขนาด 2.8 ที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ถัดมา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 เคยเกิดเวลา 05.01 น. ขนาด 2.3 อ.นครไทย จ.พิษณุโลก วันที่ 18 ส.ค. 2561 เคยเกิดเวลา 15.41 น. ขนาด 2.4 อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก วันที่ 1 เมษายน 2562 เคยเกิดเวลา 22.45 น. ขนาด 2.4 อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก วันที่ 7 มิ.ย. 2564 เคยเกิดเวลา 22.42 น. ขนาด 1.9 อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก วันที่ 22 มิ.ย. 2564 เคยเกิดเวลา 11.43 น. ขนาด 2.3 อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก และล่าสุด วันที่ 29 มิ.ย. 2566 เคยเกิดเวลา 00.17 น. ขนาด 4.5

สุวิทย์ โควสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี บอกว่าจุดเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 อยู่บริเวณรอยเลื่อนที่ซ่อนตัว หรือ Hidden Fault เป็นรอยเลื่อนที่อยู่นอกเหนือกลุ่ม 16 รอยเลื่อนที่ยังมีพลัง เช่นรอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเถิน หรือรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนใหม่ที่ยังไม่ได้ศึกษา

“รอยเลื่อนแบบนี้ยากต่อการศึกษา เพราะไม่ปรากฏหลักฐานที่อยู่บนพื้นดินให้เห็น นอกจากจะเกิดแผ่นดินไหว ที่เป็นเหมือนลายแทงให้ไปศึกษารายละเอียดต่อไป การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม ขนาดอยู่ในเกณฑ์ปานกลางที่ไม่ถึงขั้นจะมีบ้านเสียหาย”

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่สำรวจความเสียหาย ในตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมืองพิจิตร เขตรอยต่อติดกับ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาด 4.5  ลึกใต้ดิน 5 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นช่วงกลางดึกที่ผ่านมามีบ้านเรือนประชาชน อาคารเก็บของโรงงานกล้วยตากแม่ตะเพียน เสียหาย จำนวน 6 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีรอยแตกร้าวที่ปูนตามผนังบ้าน จึงให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พบว่า โครงสร้างยังแข็งแรง แต่อาจต้องซ่อมแซม

ล่าสุดเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เตรียมประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เบิกจ่ายงบประมาณช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
 
ขณะที่ผู้นำหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพิษณุโลก เข้าสำรวจและสอบถามชาวบ้านบึงช้าง หมู่ 10 ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งนี้ แต่ยังไม่พบความเสียหาย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ออกแถลงการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. 

สำหรับภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดย มีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัว ของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการ ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับ พื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active