วิกฤตน้ำโขงสูง เตือน จ.ใกล้น้ำโขง เฝ้าระวังถึง 15 ส.ค. นี้

‘รัฐบาล’ ประสานประเทศสมาชิก บริหารจัดการน้ำ แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน ‘กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ‘ เตือน วันนี้ ถึง 15 สิงหาคม ประชาชนที่อยู่ติดจังหวัดแม่น้ำโขง เฝ้าระวัง หลังมีฝนตกหนักใน จีน เมียนมา ลาว และไทย

วันนี้ (12 ส.ค. 2566) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ําโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคําไซ ประเทศลาว ทําให้ระดับน้ําแม่น้ําโขง เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทําให้ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ําในพื้นที่แม่น้ําโขงตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 10 – 15 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมและให้มีการเฝ้าระวัง อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชน 8 จังหวัดริมน้ําโขง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้าน กองอำนวยการการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศ ทำให้ช่วง 12-18 สิงหาคม มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤต นครพนม บริเวณตลิ่งที่ต่ำ อาจปริ่มตลิ่ง ซึ่งจะอยู่ในช่วงวันที่ 11-15 สิงหาคมนี้

แต่ในทางกลับกัน ตอนกลางของประเทศมีฝนตกไม่มากเท่าที่ควร ในช่วงเวลา 15 วันในพื้นที่ที่ไม่มีฝนตกเลยหรือฝนตกน้อย ไม่ถึง 1-2 มิลลิเมตร จากการประเมินจิสด้า วิกฤตมาก คือ จังหวัดนครราชสีมา อุตรดิตถ์ สระแก้ว นครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งฝนตกน้อยมากและมีการเพาะปลูกบางส่วน

  • ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน แม่สาย และแม่ฟ้าหลวง) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า เซกา ศรีวิไล พรเจริญ โซ่พิสัย และบึงโขงหลง) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน ศรีสงคราม บ้านแพง นาทม และโพนสวรรค์) จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง และอากาศอำนวย)
  • ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และท่าใหม่) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ บ่อไร่ แหลมงอบ เขาสมิง เกาะกูด และเกาะช้าง)
  • ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนองกะเปอร์และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรีและท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดสตูล (อำเภอละงู) จังหวัดตรัง (อำเภอกันตังสิเกาและปะเหลียน)

หน่วยงานเตรียมความพร้อมรับมือ วิกฤตน้ำโขงเพิ่ม

  • กรมชลประทาน ดำเนินการตรวจสอบ สภาพอาคารชลประทานในพื้นที่คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา อำเภอพานจังหวัดเชียงราย เพื่อให้พร้อมใช้งานในการส่งน้ำพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันอุทกภัยตามมาตรการรับมือฤดูฝน
  • กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 9 เครื่อง เพื่อการรักษาระดับน้ำ และเพิ่มความชุ่มชื้นในป่าพรุไม่ให้ระดับน้ำลดต่ำลง
  • สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประสานประเทศสมาชิกน้ำโขง ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ช่วยบริหารน้ำเพื่อควบคุมระดับแม่น้ำโขง โดย สทนช. ทำหนังสือด่วนถึง สำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง ขอความร่วมมือประเทศสมาชิกน้ำโขงและจีน บริหารน้ำช่วยควบคุมระดับน้ำแม่น้ำโขง หลังพบความเสี่ยงอุทกภัยจากฝนตกหนักในประเทศลาว

บริหารจัดการน้ำ-ป้องกันน้ำขาดแคลนจาก “เอลนีโญ”

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริต ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุ ถึงการเตรียมพร้อมรับมือน้ำแล้งในภาพร่วมของประเทศ เพราะปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่กระทบประเทศไทย จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกัน ปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าที่ผ่านมาส่งผลให้ปริมาณน้ำน้อย กระทบต่อการใช้น้ำไปจนถึง ปี 2567

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มี 12 มาตรการผ่านกระบวนการพิจารณา ผ่าน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการ ติดตาม กำชับหน่วยงานในการปฎิบัติการลงพื้นที่ให้เข้มข้นมากขึ้น โดยการเตรียมแผนรับมือแล้ง ปีนี้คล้ายกับปี 2562 และต่อเนื่องเหมือนในปี 2563 จึงประเมินแบบจำลองเรื่องปริมาณฝน และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ก่อนนำมาสู่การวางแผนเตรียมรับมือ และจะเริ่มประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ซึ่งมี รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นผู้สั่งการ เตรียมรับมือบรรเทาผลกระทบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active