นายกฯ เตรียมลงพื้นที่อุบลฯ ศุกร์นี้ กำชับทุกภาคส่วนเร่งช่วยประชาชน เตรียมตั้งรับทั้งแล้งและท่วม วางแผนเชิงรุก กำชับ ใช้โอกาสนี้เก็บน้ำให้มากสุด ‘ปภ.’ เผย 5 จังหวัดยังท่วม กาฬสินธุ์ – อุบลฯ ระดับน้ำเพิ่ม กระทบ 1.5 หมื่นครัวเรือน ‘สทนช.’ เตือน 3-7 ต.ค. เสี่ยง น้ำหลากดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง
วันนี้ (3 ต.ค. 2566) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า สถานการณ์น้ำตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุม โดยได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีทุกคนให้เร่งให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษ พร้อมกำชับสมาชิกผู้แทนราษฎรในพื้นที่ให้ลงพื้นที่รับทราบปัญหา และดูแลประชาชนที่เดือดร้อนทันที ส่วนเรื่องของการเยียวยาพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย รัฐบาลจะดำเนินการพิจารณาต่อไป ส่วนเรื่องของการผันน้ำวันนี้ จะมีการคุยต่อว่าการระบายน้ำของแต่ละพื้นที่
“เราจะไม่ทำงานแบบวัวหายล้อมคอก โดยวันศุกร์นี้จะมีการลงพื้นไปจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจากแผนที่ที่กรมชลประทานแสดงให้เห็นนั้น ก็มีความกังวลอยู่ โดยในพื้นที่มีน้ำล้นขึ้นมา ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมแผนงานไว้ เพราะจากปีที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานีเกิดน้ำท่วมเยอะและมีระยะเวลานาน ถ้าน้ำท่วมในระยะเวลาสั้น ๆ พื้นที่เพาะปลูกอาจไม่เสียหายมาก แต่ถ้าเกิดน้ำท่วมในระยะยาวพื้นที่เพาะปลูกก็จะเสียหายมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนมีความกังวลอยู่ โดยรัฐบาลก็จะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่วนในเรื่องของแผนระยะยาวในการป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากนั้นรัฐบาลมีแผนบูรณาการไม่ท่วม ไม่แล้ง แต่ขอเวลาในการจัดเตรียมงานหากพร้อมจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง”
นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความกังวลเรื่องของน้ำในการใช้อุปโภค บริโภคซึ่งจากการตรวจสอบ พบมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ส่วนเรื่องของการรักษาระบบนิเวศนั้น มีการบริหารจัดการอยู่ ส่วนเรื่องที่เรามีความกังวลมากนั้น คือ เกษตรกรรม ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงของน้ำท่วมและในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงฤดูแล้ง ปัญหานี้จะต้องการมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
นอกจากนั้นเรื่องของการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามานั้น มีความต้องการน้ำในปริมาณมาก เพราะปัจจุบันเราเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานก็ยังมีความต้องการน้ำนั้นอยู่ซึ่งรัฐบาลต้องมีแผนป้องกันและทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่มีการขาดแคลนน้ำ ถ้าสามารถบริหารจัดการน้ำในส่วนนี้ได้เชื่อว่าจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย
ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนแลกเปลี่ยนข้อมูลพร้อมทั้งเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาและจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและอนาคตจะมีแนวโน้มแล้ง อาจต้องใช้โอกาสทองนี้ก่อนหมดฤดูฝนอีก 1 เดือนข้างหน้าเพื่อลดปัญหาขาดแคลนน้ำอนาคต
ปภ. เผย 5 จังหวัดยังท่วม กาฬสินธุ์ – อุบลฯ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานช่วงวันที่ 26 ก.ย. – 3 ต.ค. 2566 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 28 จังหวัด 95 อำเภอ 323 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 25,217 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 5 จังหวัด 25 อำเภอ 103 ตำบล 492 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,963 ครัวเรือน
1) ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ สามเงา ละบ้านตาก รวม 6 ตำบล 33 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,419 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2) กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี และสหัสขันธ์ รวม 34 ตำบล 149 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,573 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
3) ยโสธร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ ป่าติ้ว เมืองยโสธร และค้อวัง รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
4) อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอได้แก่ เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ม่วงสามสิบ เดชอุดม ตระการพืชผล เขื่องใน เหล่าเสือโก้ก ตาลสุม และดอนมดแดง รวม 57 ตำบล 298 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,836 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
5) ปราจีนบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ประจันตคาม และกบินทร์บุรี รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 95 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ส่วนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันนี้ (3 ต.ค. 2566) ระบุว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วน ภาคตะวันออก มีฝนตกหนักมากบางแห่ง
โดยปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด (271 มิลลิเมตร) จ.พังงา (101 มิลลิเมตร) จ.อุบลราชธานี (90 มิลลิเมตร) กรุงเทพมหานคร (73 มิลลิเมตร) จ.เชียงใหม่ (54 มิลลิเมตร) และ จ.ราชบุรี (10 มิลลิเมตร)
ส่วนปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 51,923 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,521 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65% ขณะที่คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
นอกจากนี้ สทนช. ยังมีการประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เรื่องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2566 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่
- จ.เชียงใหม่ (อ.จอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง ดอยเต่า ฮอด ดอยสะเก็ด และกัลยาณิวัฒนา)
- จ.ตาก (อ.เมืองตาก ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และพบพระ)
- จ.กำแพงเพชร (อ.โกสัมพีนคร คลองลาน และปางศิลาทอง)
- จ.ลำพูน (อ.ลี้ และทุ่งหัวช้าง)
- จ.แพร่ (อ.วังชิ้น และลอง)
- จ.ลำปาง (อ.เถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา)
2. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
- แม่น้ำวัง ได้แก่ อ.สามเงา และบ้านตาก จ.ตาก
- แม่น้ำยม ได้แก่ อ.สวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย
- แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร ถึง 1 เมตร 50 เซนติเมตร