MitrEarth แจง แผ่นดินไหวถี่ ไม่ใช่สัญญาณเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ย้ำ ภัยมีโอกาสเกิดได้ทุกที่เท่ากัน

ชี้ ภูเขาไฟใต้ทะเลมีอยู่จริง วอน ประชาชนรู้ เข้าใจความเสี่ยง ทั้งกรณีภัยใหญ่สึนามิ และ กรณีภัยน้ำท่วม

ศ.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth ให้ข้อมูลกับ The Active ถึงกรณีแผ่นดินไหวขนาดย่อมที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงนี้ เช่นเดียวกับที่มีไวรัล มังงะญี่ปุ่น ที่ทำนายแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไว้ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2568 โดยชี้ว่า การทำนายเป็นวันที่แน่ชัดแบบนี้ สามารถตีว่า “ข้อความนั้นเก๊แน่นอน”

ข้อกังวลใหม่ ภัย ภูเขาไฟใต้ทะเลอันดามัน

ทั้งนี้ มิตรเอิร์ธ ยังได้ โพสต์ข้อความ ย้ำเตือนถึงการมีอยู่ของภูเขาไฟใต้ทะเลฝั่งอันดามันนอกชายฝั่งไทย และโอกาสที่จะมีแผ่นดินไหวรุนแรงหากภูเขานั้นปะทุ จนทำให้หลายคนอาจตื่นตระหนัก และมีการกล่าวว่า อาจมีแผ่นดินไหวใหญ่ตามแผ่นดินไหวย่อยถี่ ๆ หรือไม่

ศ.สันติ ชี้แจง ความกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในทะเลฝั่งอันดามัน ช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยชี้ว่า นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วว่าแผ่นดินไหวเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อน ไม่ใช่สัญญาณเตือนแผ่นดินไหวใหญ่ แต่เป็นเพียงสัญญาณที่บอกว่าแมกมากำลังเคลื่อนที่ 

ถึงแม้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่นี้ขึ้นจริง ๆ ก็จะไม่เกิดสึนามิขึ้น เพราะรอยเลื่อนในพื้นที่เป็นแนวราบที่ยกมวลน้ำไม่ได้ ซึ่ง ศ.สันติ ยังย้ำว่า ถ้าแผ่นดินไหวมันทำให้เกิดสึนามิ “ผมฉีกตำราทิ้ง”

“กลุ่มแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นตัวบอกเลยว่าแผ่นดินไหวใหญ่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เร็ว ๆ นี้ไม่มีแผ่นดินไหว เพราะมันไม่ใช่สัญญาณเตือน สมมุติว่าต่อให้โลกมันเล่นตลก แผ่นดินไหวตรงนั้นจริง ๆ ซึ่งโอกาสมีไม่ถึง 3% ก็ไม่ทำให้เกิดสึนามิ”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ประเด็นที่ นักวิชาการด้านธรณี ย้ำเตือนให้ทราบ แต่อาจจะสร้างความตื่นตระหนกต่อไปนั่นคือ ‘ภูเขาไฟใต้น้ำ’ โดยให้ข้อมูลว่า ภูเขาไฟใต้น้ำแบ่งได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือ ภูเขาไฟแบบลาวาไหลหลาก และ แบบปะทุ

  • ภูเขาไฟแบบลาวาไหลหลาก ไม่มีโอกาสทำให้เกิดสึนามิ จะมีลาวาไหลเอื่อยจากปล่องเฉย ๆ

  • ภูเขาไฟแบบปะทุ จะไม่มีลาวาเลย แต่การปะทุจะรุนแรงและทำให้เกิดสึนามิได้ อย่างเช่น ภูเขาไฟปินาตูโบ หรือภูเขาไฟใต้ทะเลที่ตองกา

การจำแนกภูเขาไฟ 2 แบบนี้ สามารถดูจาก ‘รูปร่างภูเขาไฟ’ จะประเมินได้เลย ศ.สันติ ได้เผยรูปภาพภูเขาไฟในทะเลอันดามันที่ได้เห็น โดยกล่าวว่า “เห็นแล้วว่ารูปทรงภูเขาไฟเป็นรูปทรงที่แหลม หมายความว่า มีโอกาสที่จะเป็นประเภทปะทุแบบให้เถ้า ผมคาดว่า เป็นภูเขาไฟแบบปะทุรุนแรง”

โดยมีสาเหตุเพิ่มเติมที่ทำให้เชื่อได้ว่า ภูเขาไฟใต้น้ำนี้จะเป็นแบบปะทุรุนแรง นั่นคือ

  • ในพื้นที่ภูเขาไฟเป็นพื้นที่เปลือกโลกแบบมุดตัว ที่จะก่อให้เกิดแมกมาที่สร้างภูเขาไฟแบบให้เถ้า

  • แนวภูเขาไฟเป็นแนวเดียวกับภูเขาไฟแถบเกาะสุมาตราและกรากะตัว ซึ่งระเบิดและให้เถ้าทั้งหมด

หากถามว่าจะมีแผ่นดินไหวใหญ่ในช่วงเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ศ.สันติ ก็ชี้แจงว่า โอกาสเกิดมีเท่า ๆ กับทุก ๆ วันที่เหลือ

“ถ้าถามว่า 5 ก.ค. มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวไหม ผมก็จะบอกว่ามี มีโอกาสเท่า ๆ กับวันที่ 6 ก.ค., 7 ก.ค., 8 ก.ค., 9 ก.ค., 10 ก.ค. เท่ากันเลย”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ข้อมูลเรื่องภูเขาไฟใต้น้ำ เป็นเพียงการชี้แจงให้เข้าใจและรับทราบถึงภูมิศาสตร์รอบตัว ว่าในทะเลฝั่งอันดามันมีภูเขาไฟใต้น้ำ ที่มีโอกาสจะปะทุและทำให้เกิดสึนามิในอนาคตได้ และหากเกิดสึนามิจะมาถึงฝั่งเร็วกว่าครั้งเมื่อปี 2004 

“สึนามิที่เกิดจากภูเขาไฟ จะสูงเวอร์กว่าสึนามิที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลกยกตัว”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ศ.สันติ ยังยกตัวอย่างกรณีภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดที่กรากะตัว ทำให้เกิดสึนามิคลื่นสูง 40 เมตร พัดเรือยักษ์เข้าไปลึก 3 กม. บนบก และทำให้เกิดคลื่นรอบชายฝั่ง เป็นการชี้แจงให้เห็นกรณีตัวอย่าง เพื่อวางแผนในการอพยพให้ดีที่สุด

เรียกร้องควบคุมข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ

สำหรับที่มาของการพูดถึงภูเขาไฟระเบิดนี้ มาจากความสงสัย นักวิชาการด้านธรณี จึงไปหาข้อมูลจากบทความวิชาการ 

“ตอนที่ทำ ผมนึกว่าตัวเองเป็นผู้ส่งสารให้ชาวบ้านรู้ก่อน เจตนาที่ผมลงเพจไป คือไม่ได้บอกว่ามันจะเกิดแผ่นดินไหว ผมไปค้นข้อมูลและพบสิ่งที่น่ากังวล เลยอยากแจ้งข่าวประชาชน ว่าถ้าวันหนึ่งมันปะทุ มันน่ากลัว ควรเฝ้าระวังและจับตา”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ทั้งนี้ ศ.สันติ ยังแสดงความกังวลต่อปัญหาข่าวปลอมเกี่ยวกับภัยพิบัติที่แพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย โดยเสนอให้มีกฎหมายควบคุมอย่างจริงจัง “การที่จะบอกว่าข่าวนั้นเฟคหรือไม่เฟค ไม่ใช่ผลว่ามันเกิดจริงหรือไม่ เมื่อไหร่ที่คุณลงข้อมูลและข่าวไป คุณต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน”

จึงเตือนว่าปัจจุบันมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนที่ตั้งใจแพร่ข่าวปลอมเรื่องเกี่ยวกับภัยธรรมชาติเพื่อหาผลประโยชน์ “พวกเขาที่โพสต์เขาตั้งใจ เขาไม่ได้ไม่ฉลาดเลย แต่เจตนาเขาไม่ค่อยโอเค เขาตั้งใจอยากได้ยอดคนดู อยากได้เงิน” และหากไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งเชื่อว่า ต่อไปก็จะมีการปล่อยข่าวปลอมเรื่องภัยธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

น้ำท่วม : ภัยทางน้ำที่เจอทุกปี ต้องจัดการด้วยภูมิศาสตร์

จากกรณีโอกาสที่ภูเขาไฟใต้น้ำจะปะทุ มาสู่กรณีภัยที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมบ้านเรือน มีผู้ได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ศ.สันติ ชี้แจงว่า ปริมาณน้ำฝนหรือพายุ ไม่ได้สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ​

“ตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่มีภาวะฝนอะไรที่ประหลาดหรือพิสดารเลย น้ำมาปกติ น้ำมันจะไหลมาทางนี้ ๆ พอมาดูอีกที เอ้า เขาสร้างบ้านตรงนี้กันตั้งแต่ตอนไหน” ศ.สันติ กล่าวโดยเน้นว่า ปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่เกิดจากการเข้าไปสร้างบ้านหรือขยายเมืองไปจนแตะพื้นที่ที่เป็น พื้นที่อ่อนไหวทางภัยพิบัติ หรือ (susceptible area)” 

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

นักวิชาการด้านธรณี ยังอธิบายด้วยว่า ถ้าไปสร้างบ้านอยู่บริเวณร่องที่น้ำจะไหลผ่าน อันนี้คือพื้นที่ความอ่อนไหวสูง พูดง่าย ๆ คือ รอฝนตกยังไงก็โดน โดยยกตัวอย่างเมืองแม่สาย ที่ในอดีตประชาชนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยห่างจากแม่น้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การค้าขายและเศรษฐกิจทำให้ผู้คนค่อย ๆ ย้ายเข้าไปใกล้แม่น้ำมากขึ้น จนกลายเป็นการอยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงในปัจจุบัน

3 ทางเลือกจัดการปัญหา

ศ.สันติ ยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 3 วิธี

  1. การย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยง – เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแต่อาจไม่สามารถทำได้จริงในทุกกรณี เพราะต้องอยู่ไกลจากแหล่งน้ำและอาจแห้งแล้งในช่วงปกติ

  2. การอยู่ร่วมกับน้ำอย่างชาญฉลาด – สำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถย้ายได้ ให้มีระบบเตือนภัยและอพยพชั่วคราวเมื่อน้ำมา “ให้อพยพเป็น เป็นข้อที่ถ้าเราปล่อยให้น้ำไปตามธรรมชาติ”

  3. การสร้างเขื่อน – แม้จะเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ ศ.สันติ มองว่า “มีเขื่อนเมื่อไหร่ปลอดภัยเมื่อนั้น เขื่อนช่วยมากจริง ๆ แม้จะเสียป่าหรืองานอนุรักษ์”

สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้น้ำ แนะนำให้ ต้องยอมรับต้นทุนพื้นที่ ต้องรู้นิสัยของน้ำ เช่น ไม่เก็บของมีค่าไว้ชั้นล่าง เตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วมเป็นประจำ

“ข้อมูลที่นักวิชาการให้ในวันนี้หรืออนาคต ไม่ได้ให้เพื่อตื่นตระหนก แต่ให้เพื่อคิด วิเคราะห์ และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ศ.สันติ ยังทิ้งท้าย โดยเน้นว่าการรู้และเข้าใจภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันและลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active