ตลอดทั้งวันจุดไหนเสี่ยง พื้นที่ได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว
จ.พะเยา
จากรายงาน “สถานการณ์อุทกภัย-น้ำไหลหลาก” ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 02.00 – 04.00 น. เกิดฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ จ.พะเยา วัดปริมาณน้ำฝนได้ประมาณ 100 มิลลิเมตร ทำให้ในบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา มีปริมาณน้ำฝนสะสม และไหลมาตามห้วยนาปอย เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตมหาวิทยาลัย และหอพัก จนเกิดความเสียหายทั้งยานพาหานะ และอุปกรณ์การเรียนของนิสิตที่อาศัยอยู่บริเวณจุดที่เกิดเหตุน้ำท่วม
Thai PBS News สอบถามข้อมูลจากผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า ชาวบ้าน และนิสิตที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำท่วมไม่สามารถเก็บทรัพย์สินได้ทัน เนื่องจากมวลน้ำที่ไหลเข้ามายังพื้นที่รวดเร็วจนไม่ตั้งตัวไม่ทัน และไม่มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า จึงทำให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 300 ชีวิต ได้รับความเสียหาย และยังมีบางส่วนติดอยู่ในที่พัก
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา และมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มเข้ามาให้การช่วยเหลือ แต่ความเสียหายที่หลงเหลือจากมวลน้ำและดินโคลนยังต้องเร่งให้การช่วยเหลืออย่างมาก
จ.ภูเก็ต
ผู้สื่อข่าวจาก Thai PBS รายงานบรรยากาศในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เกิดฝนตกอย่างหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ยังมีพื้นที่ที่น่ากังวลคือ บริเวณชุมชนกะตะ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งยังมีน้ำไหลลงมาจากบนเทือกเขานาคเกิดอย่างต่อเนื่อง แต่สีของน้ำเริ่มมีความใสมากขึ้น เนื่องจากไม่มีฝนตก อย่างไรก็ตาม เทศบาลตำบลกะรน ได้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 17 คน ไปพักยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว
นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก Phuket Hotnews เพิ่มเติมว่า มีการทรุดตัวของถนนวิเศษ ต.ราไวย์ อย่างต่อเนื่อง จากฝนที่ตกสะสมมาหลายวัน โดยมีการทรุดตัวตั้งแต่เวลา 04.47 น. และขยายเป็นวงกว้าง จนทำให้ถนนเกิดความเสียหาย 1 ช่องจราจร
น้ำท่วม ‘เหนือ-อีสาน’ กระทบเส้นทางหลายพื้นที่
อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีลมพายุ ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อน ปัจจุบัน (วันที่ 17 ก.ย. 67 เวลา 14.00 น.) ได้รับรายงานถึงสถานการณ์โครงข่ายทางหลวงชนบทได้รับผลกระทบ ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 13 สายทาง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, บึงกาฬ, หนองคาย และตาก ดังนี้
- สะพานบนถนนสาย ชร.3037 แยก ทล.118 – บ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่สรวย, เมือง, แม่อาย จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 65+830 ถึง 66+000)
- สะพาน ชร.007 สะพานพ่อขุนเม็งรายมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 0+200)
- สะพาน ชร.016 สะพานแม่น้ำกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 0+140)
- ถนนเชิงลาดสะพาน ชร.022 สะพานประชาร่วมใจ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 1+450 ถึง 2+000)
- สะพานบนถนนสาย ชร.1041 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (กม.ที่ 0+000)
- ถนนสาย บก.3010 แยก ทล.212 – บ้านหนองมุม อำเภอบึงกาฬ, ปากคาด จังหวัดบึงกาฬ (ช่วง กม.ที่ 30+900 ถึง 31+550 และ 7+000 ถึง 8+000)
- ถนนสาย นค.5027 แยก ทล.3009 – บ้านสร้างคอม (ตอนหนองคาย) อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 12+825 ถึง 13+400 และ 7+525 ถึง 8+850)
- ถนนสาย นค.3042 แยก ทล.211– บ้านธาตุกลางน้อย อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 16+300 ถึง 17+300)
- ถนนสาย นค.4044 แยก ทล.2266 – บ้านทุ่ม อำเภอศรีเชียงใหม่, ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 6+500 ถึง 7+600)
- สะพาน นค.012 สะพานห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 6+180)
- สะพาน นค.029 สะพานห้วยเป อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 0+100)
- สะพาน นค.019 สะพานห้วยน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 1+700 ถึง 2+730)
- ถนนสาย ตก.4014 แยก ทล.1090 – บ้านพบพระเหนือ อำเภอแม่สอด, พบพระ จังหวัดตาก (ช่วง กม.ที่ 15+400 ถึง 15+500) ดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์ เพื่อเปิดใช้ในการสัญจรชั่วคราวแล้ว
ครม. เคาะเยียวยาบ้านเสียหายน้ำท่วม 70% หลังละ 2.3 แสนบาท
จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ หารือถึงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุมให้แต่ละกระทรวงไปดู สถานการณ์น้ำและพายุในสัปดาห์ถัดไปเพื่อเตรียมการรับมือ
ขณะเดียวกันนายกฯ ได้สั่งการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ คอส. และตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลืออุทกภัยวาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ให้ทุกภาคส่วนเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง จ.พะเยา หรือจังหวัดใกล้เคียงที่มีสถานการณ์น้ำไหลลงมาในพื้นที่ ทั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องรายงานและวิเคราะห์สถานการณ์เป็นรายชั่วโมง
ส่วนมาตรการเยียวยาที่ประชุม ครม. ได้เสนองบประมาณเข้ามา 3,000 ล้านบาท โดยต้องลดขั้นตอนเอกสารและภาพถ่าย และให้กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ลงพื้นที่เพื่อสรุป โดยเบื้องต้นหากบ้านเสียหายเกิน 70 % จะสามารถรับเงินเยียวยา 230,000 บาท รวมถึงการบาดเจ็บ และเสียชีวิต
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน….