อิทธิพล ‘ดีเปรสชัน’ ซ้ำ เหนือ-จังหวัดริมโขง

20 – 21 ก.ย. นี้ อีสานตอนบน พื้นที่ริมโขง ภาคเหนือตอนล่าง เฝ้าระวัง! เตรียมรับมือ อุตุฯ คาดการณ์ ฝนกระหน่ำ พื้นที่น้ำท่วมเดิมอาจได้รับผลกระทบ ขณะที่ สทนช. ประเมิน 16 จังหวัดเสี่ยง

วันนี้ (18 ก.ย. 67) เมื่อช่วงเวลาประมาณ 04.00 น. ความคืบหน้าเส้นทางพายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง พบว่า พายุยังไม่ได้มีกำลังแรงขึ้นเป็นโซนร้อน และเคลื่อนตัวช้าลงเล็กน้อย ไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กม./ชม. ซึ่งก็มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในช่วงวันที่ 20 – 21 ก.ย. 67 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ และเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง

ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ แพร่, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, กำแพงเพชร, ตาก

ภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง ได้แก่ หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, สกลนคร, มุกดาหาร, เลย, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด

ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) มีกำลังแรงพัดเข้าหาพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก, ระยอง, ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด

และภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล มีฝนตกหนักมากบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังแรงลม ในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ย. 67 ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (ข้อมูลเส้นทางพายุอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามการประมวลผลใหม่)

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 18 – 20 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง 

ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย. 67 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ทั้งนี้เนื่องจากมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน                     

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตลอดช่วง

ทั้งนี้ พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่า ในช่วงวันที่ 19 – 20 ก.ย.67 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย 

สถานการณ์แม่น้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำโขงภายในประเทศ และแม่น้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในแม่น้ำโขงสายหลัก

  • จ.เลย บริเวณสถานีเชียงคาน อำเภอเชียงคาน ระดับน้ำ 14.49 ม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 1.51 ม.) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

  • จ.หนองคาย บริเวณสถานีหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย ระดับน้ำ 13.17 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.95 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละประมาณ 0.50 – 0.60 ม. และคาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มกลับสู่ระดับตลิ่งในวันที่ 20 ก.ย. 67

  • จ.บึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ และจังหวัดนครพนม ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากมวลน้ำที่เคลื่อนตัวมามาก จ.หนองคายโดยเฉพาะ จ.นครพนม ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในวันที่ 19-20 ก.ย. 67

  • จ.อุดรธานี ส่วนลำน้ำห้วยหลวง ที่สถานี Kh.103 บ้านโนนตูม อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ปัจจุบันมีระดับน้ำ 5.81 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.18 ม.) มีแนวโน้มลดลงเข้าสู่ระดับตลิ่ง และจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในวันที่ 22 ก.ย. 67

  • จ.สกลนคร บริเวณแม่น้ำสงคราม ที่สถานี Kh.74 อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ปัจจุบันมีระดับน้ำ 9.63 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.13 ม.) มีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในอีก 3 วันข้างหน้า สูงกว่าตลิ่ง 0.30 ม.ในวันที่ 19 ก.ย. 67

คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ล่วงหน้าจนถึงวันที่ 19 ก.ย. 67

สทนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า พบว่ามีพื้นที่เสี่ยง จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่

  • จ.แม่ฮ่องสอน : อ.สบเมย
  • จ.เลย : อ.ภูเรือ

  • จ.จันทบุรี : อ.ขลุง

  • จ.ตราด : อ.เมืองตราด, อ.เกาะกูด, อ. บ่อไร่, อ.เกาะช้าง, อ.เขาสมิง, อ.แหลมงอบ

  • จ.กาญจนบุรี : อ.สังขละบุรี

  • จ.ชุมพร : อ.พะโต๊ะ

  • จ.ระนอง : อ.สุขสำราญ, อ.เมืองระนอง, อ.กะเปอร์, อ.ละอุ่น, อ.กระบุรี

  • จ.สุราษฎร์ธานี : อ.บ้านตาขุน, อ.พนม, อ.บ้านนาสาร, อ.เวียงสระ, อ.ท่าฉาง

  • จ.พังงา : อ.คุระบุรี, อ.ตะกั่วป่า, อ.กะปง, อ.ท้ายเหมือง, อ.ตะกั่วทุ่ง, อ.เมืองพังงา, อ.ทับปุด, อ.เกาะยาว

  • จ.ภูเก็ต : อ.เมืองภูเก็ต, อ.กะทู้, อ.ถลาง

  • จ.กระบี่ : อ.เมืองกระบี่, อ.เกาะลันตา, อ.เหนือคลอง, อ.คลองท่อม, อ.อ่าวลึก, อ.ปลายพระยา, อ.เขาพนม

  • จ.นครศรีธรรมราช : อ.ฉวาง, อ.ทุ่งสง

  • จ.ตรัง : อ.สิเกา, อ.ย่านตาขาว, อ.ปะเหลียน, อ.นาโยง, อ.เมืองตรัง, อ.กันตัง, อ.หาดสำราญ, อ.วังวิเศษ, อ.ห้วยยอด

  • จ.พัทลุง : อ.กงกรา, อ.ศรีนครินทร์

  • จ.สตูล : อ.ละงู, อ.ควนโดน, อ.เมืองสตูล, อ.ทุ่งหว้า, อ.ท่าแพ, อ.ควนกาหลง, อ.มะนัง

  • จ.สงขลา : อ.สะเดา, อ.รัตภูมิ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active